Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายให้เกิดประสิทธิผลและศึกษาแนวทางการพัฒนาและช่วยเหลือการปรับตัวของผู้ประกอบการอาหารไทยในกิจกรรม BCG THE NEXT GEN ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้แทนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการทางด้านอาหารที่เข้าร่วมกิจกรรม BCG THE NEXT GEN และเจ้าหน้าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลจากการศึกษาพบว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่มีประสิทธิผลแต่ไม่มากเท่าที่ควร โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินโยบาย ได้แก่ ความเร่งด่วนของนโยบายก่อให้เกิดข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการจัดทำโครงการ และกิจกรรม เช่น กฎระเบียบของกลุ่มตลาดประเทศเป้าหมาย ซึ่งส่งผลต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการบูรณาการบันทึกความร่วมมือระดับกระทรวงที่ยังไม่เป็นรูปธรรมและไม่เกิดผลตามที่คาดหวังในการส่งเสริมการส่งออกผู้ประกอบการอาหารไทย
ทั้งนี้ แนวทางในการปรับปรุงนโยบายอาจทำได้โดยเริ่มจากการจัดทำงบประมาณที่มุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Performance Based Budgeting : SPBB) ควบคู่ไปกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรองเมื่อเกิดนโยบายเร่งด่วน ปรับเปลี่ยนระบบการวัดผลให้มีประสิทธิผลเพื่อต่อยอดในการขอจัดสรรงบประมาณประจำปีที่สูงขึ้น และจัดทำแผนการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่ชัดเจนและมีเนื้อหาสาระภายใต้บันทึกความร่วมมือเพื่อต่อยอดการส่งออกสินค้าอาหารโดยเฉพาะเจาะจง