Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการรวมถึงปัญหา อุปปสรรค และข้อเสนอแนะในการนำนโยบายส่งเสริม SMEs ไทย ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านโครงการ Thai SME-GP ไปปฏิบัติ โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงประมาณ ผ่านการแจกแบบสอบถาม แก่ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริม SMEs ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอิเล็กทรอนิคส์ Thai SME-GP ทั้งสิ้น 400 ราย และการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากผู้ประกอบการที่มีกิจการที่สามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 9 ราย พบว่า นโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านโครงการ Thai SME-GP ถูกกำหนดในรูปแบบของ กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และนำมาปฏิบัติควบคู่ไปกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จากข้อมูลเชิงปริมาณพบว่าผู้ประกอบการSMEs ที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าปัจจัยมาตรฐานและจุดประสงค์ของนโยบายชัดเจน และนโยบายสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ในการจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อต่อยอดกิจการของตนต่อไปได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามข้อมูจากการสัมภาษณ์พบว่ามาตรฐานนโยบายผ่านการบังคับใช้ กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 มีความทับซ้อนและยุ่งยากทำให้ผู้ประกอบการบางรายตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ ในด้านของปัจจัยการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับหน่วยรับนโยบายนั้นตัวนโยบายยังไม่สามารถประชาสัมพันธ์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนพลาดโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ และในส่วนของปัจจัยทรัพยากรนโยบายพบว่าด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่นำไปปฏิบัตินั้นมีจำกัดทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึง ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ ควรมีการเพิ่มกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐเพื่อรองรับภาระงานที่มากขึ้นให้เพียงพอต่อการบริการ อีกทั้งควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์นโยบายให้มากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมายนโยบายได้อย่างทั่วถึง และควรปรับปรุงข้อกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ให้ลดความซ้ำซ้อนลง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัตินโยบายและประชาชน