Abstract:
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม พืชที่ปลูกส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว ตามด้วยผักและผลไม้ชนิดต่างๆ ปัจจุบันมีแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่าพื้นที่ๆใช้สำหรับเพาะปลูกเกือบทั้งหมดนั้นเป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และเสื่อมสภาพทั้งทางเคมีและทางกายภาพ อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลงและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชโตช้า และได้ผลผลิตทางการเกษตรน้อย มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ หรือการปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพนั้นสามารถคงความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินได้มากกว่าการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมุ่งหวังเพื่อที่จะศึกษาจุลินทรีย์ในมูลสัตว์แต่ละชนิด เพื่อที่จะคัดเลือกมูลสัตว์ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดและนำมาใช้ในการพัฒนาเป็นปุ๋ยคอก และใช้เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพจากการทำการเกษตร ด้วยการเปรียบเทียบฐานข้อมูลประชากรจุลินทรีย์แบคทีเรีย อาร์เคีย และราในมูลสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่ มูลโคนม มูลไส้เดือน มูลแพะ มูลกวางลูซี่ มูลกระต่าย และมูลโคเนื้อภูพาน ด้วยวิธีการสร้างห้องสมุดยีน 16s ไรโบโซมอลอาร์เอ็นเอและ sequencing หรือไมโครไบโอม ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีที่เหมาะในการใช้เพื่อสร้างฐานข้อมูลและเพื่อใช้วิเคราะห์ระบบนิเวศอย่างถูกต้อง เนื่องจากมีแบคทีเรียจำนวนมากที่ไม่เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงและยังให้ข้อมูลที่ครบถ้วนอีกด้วย จากผลของงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของมูลสัตว์แต่ละชนิดทั้งในด้านคุณสมบัติ ลักษณะทางกายภาพ เคมี และความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่พบในมูลสัตว์ โดยพบว่าไฟลัม Fibrobacteres, Actinobacteria และ Planctomycetes เป็นไฟลัมที่พบได้มากที่สุดในมูลสัตว์ทุกชนิด ซึ่งมูลไส้เดือนนั้นมีความหลากหลายแบคทีเรียรวมมากที่สุด และยังมีโครงสร้างประชากรแบคทีเรียที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับมูลสัตว์ชนิดอื่นๆ ซึ่งแบคทีเรียในกลุ่ม Rhizobiales, Actinomycetales และ Flavobacteriales พบได้มากในมูลของไส้เดือนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอาหารที่สำคัญที่ต่อพืชอย่างครบถ้วน ได้แก่ ไนโตรเจน โพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งเหมาะสมต่อการนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยคอกต่อไป