Abstract:
ค้างคาวกินแมลงมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในการควบคุมประชากรแมลงในธรรมชาติ ในงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาองค์ประกอบอาหารของค้างคาวคุณกิตติจากมูลค้างคาวที่เก็บจากถ้ำพระ ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้ดีเอ็นเอบาร์โค้ดในการระบุชนิดของแมลง และใช้ไพร์เมอร์ที่มีความจำเพาะต่อแมลง (ZBJ-ArtF1c และ ZBJ-ArtR2c) ในปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส (PCR) เพื่อเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอของยีน cytochrome c oxidase subunit I (COI) ผลจากการวิเคราะห์ลำดับดีเอ็นเอด้วยเทคนิค next-generation sequencing (NGS) พบว่า อาหารของค้างคาวคุณกิตติส่วนใหญ่เป็นแมลงในอันดับผีเสื้อ (Lepidoptera) ในวงศ์ Noctuidae, Hyblaeidae, Geometridae, Depressariidae และ Oecophori นอกจากนั้นยังประกอบด้วยแมลงจำพวกจิ้งหรีด (อันดับ Orthoptera วงศ์ Gryllidae) และมวนง่าม (อันดับ Hemiptera วงศ์ Pentatomidae) ซึ่งพบว่าแมลงบางชนิดนั้นจัดว่าเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น ผีเสื้อกินใบสัก Hyblaea puera ดังนั้นค้างคาวคุณกิตติแมลงจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมแมลงศัตรูพืชในธรรมชาติอีกด้วย