Abstract:
เอ็กโทไมคอร์ไรซาเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยระหว่างราและพืช รวมถึงไม้ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) ซึ่งเป็นไม้เด่นในป่าเต็งรัง โดยเอนไซม์จากราเอ็กโทไมคอร์ไรซาซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการแลกเปลี่ยนคาร์บอนที่พืชได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสงและธาตุอาหารในดินจากรานั้น ส่งผลต่อกระบวนการหมุนเวียนธาตุอาหารในระบบนิเวศป่าเต็งรัง เพื่อเข้าใจถึงบทบาทของราเอ็กโทไมคอร์ไรซาต่อ การหมุนเวียนแร่ธาตุนี้ งานวิจัยนี้จึงศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามเวลาของสังคมราเอ็กโทไมคอร์ไรซาในป่าเต็งรังรุ่นที่สองในจังหวัดน่านและสระบุรี รวมถึงศึกษารูปแบบและพลวัตของแอกทิวิตีของเอนไซม์จากดินและ รากเอ็กโทไมคอร์ไรซาใต้ดิน โดยป่าเต็งรังในจังหวัดน่าน มีไม้เด่นเป็นไม้วงศ์ไม้ยาง 4 ชนิด ในขณะที่มีไม้วงศ์ไม้ยางเพียงชนิดเดียวเป็นไม้เด่นในพื้นที่ป่าเต็งรังจังหวัดสระบุรีซึ่งกำลังฟื้นตัวหลังจากถูกรบกวนได้ไม่นาน วางแปลงศึกษาจำนวน 3 แปลงในแต่ละพื้นที่ จากนั้นเก็บตัวอย่างดินครั้งละ 15 ตัวอย่างต่อแปลงศึกษา จำนวน 4 ครั้ง ในเดือนกันยายน 2560 ถึงสิงหาคม 2561 โดยครอบคลุมฤดูฝนและฤดูแล้ง ทำการเปรียบเทียบสังคมราใต้ดินในแต่ละพื้นที่และระหว่างฤดูกาลจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของรากเอ็กโทไมคอร์ไรซา ตรวจสอบค่าแอกทิวิตีของเอนไซม์ acid phosphatase (AP) β-glucosidase (BG) และ β-N-acetylglucosaminidase (NAG) ทั้งจากดินและรากเอ็กโทไมคอร์ไรซา ฤดูกาลละ 1 ครั้ง ด้วยวิธี para-nitrophenol ผลการวิจัยพบว่า ความชื้นในดินและจำนวนรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาสูงที่สุดในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งเป็นฤดูฝน พบรากเอ็กโทไมคอร์ไรซา 14 ลักษณะจากแต่ละพื้นที่และรากแต่ละลักษณะมี การเปลี่ยนแปลงตามเวลาแตกต่างกัน สำหรับค่าแอกทิวิตีของเอนไซม์จากดินทั้ง 3 ชนิด พบว่ามีเพียง BG ที่มีค่าลดลงในฤดูฝนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าแอกทิวิตีเฉลี่ยของเอนไซม์ AP จากรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาที่จังหวัดสระบุรีในฤดูฝนมีค่าน้อยกว่าเอนไซม์ในฤดูแล้ง ในขณะที่รากเอ็กโทไมคอร์ไรซาที่จังหวัดน่าน เอนไซม์ BG มีค่าแอกทิวิตีสูงในฤดูฝน ค่าเฉลี่ยของแอกทิวิตีของเอนไซม์จากรากเอ็กโทไมคอร์ไรซาทั้งหมด รวมถึงจากรากแต่ละลักษณะมีความแปรผันระหว่างแปลงศึกษาซึ่งอาจเป็นผลจากแหล่งที่อยู่อาศัยย่อยในแต่ละบริเวณ