Abstract:
การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหรือลดทอนพฤติกรรมมนุษย์ ในขณะที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดการทำงานเคลื่อนที่ (Mobile working) ผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่หรือ “คนเมือง” ใช้เวลาในสำนักงานน้อยลง แต่กลับใช้เวลาในสถานที่ที่รู้จักในชื่อ “Third place” เพิ่มมากขึ้น “Third place” คือ สภาพแวดล้อมภายในที่คนเมืองใช้รวมกลุ่ม เช่น ร้านกาแฟที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต, ร้านกาแฟ, ร้านขายขนมอบ (Bakery) หรือ ร้านอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์การใช้สถานที่เพื่อการพบปะ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ใช้ทำงานคนเดียวหรือเป็นกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย การออกแบบ “Third place” มีผลต่อพฤติกรรมและการรับรู้เชิงวัฒนธรรมของคนเมืองอย่างมาก วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้เพื่อทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในกับพฤติกรรมของคนเมืองที่สัมพันธ์กับประเด็กทางวัฒนธรรม ได้แก่ ทัศนคติ, มารยาทไทย, วัตถุนิยม, สุขนิยม, การรักนวลสงวนตัว, การมีระเบียบวินัยและสำนึกสาธารณะ วิธีการเก็บข้อมูลใช้การสังเกตและสัมภาษณ์ในบริบทจริง, การคัดเลือกภาพตัวอย่างและเปรียบเทียบ และสัมภาษณ์กลุ่มจากอาสาสมัครจำนวน 120, 50 และ 48 คน ตามลำดับ ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า องค์ประกอบและคุณภาพของการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในมีผลต่อประเด็นทางวัฒนธรรมทุกประเด็น ผลของการสืบค้นจากงานวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในสภานที่สาธารณะเพื่อที่จะใช้ส่งเสริมและลดทอนพฤติกรรมเชิงวัฒนธรรมแต่ละประเด็น และยังสามารถประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในในประเทศและประเทศอื่น ๆ ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้งานวิจัยยังพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเมืองรุ่นใหม่ โดยใช้วิธีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายโดยใช้หลักจิตวิทยา วิธีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเป็นการแบ่งกลุ่มคนโดยขึ้นกับระดับชั้นในสังคม, วิถีชีวิตและบุคลิกส่วนตัว และอยู่บนฐานการตั้งสมมุติฐานว่า ประเภทของสภาพแวดล้อมภายใน, ผลิตภัณฑ์และตราสินค้าที่ปัจเจกบุคคลเลือกใช้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นบุคลิภภาพและรูปแบบการใช้ชีวิตของคน ๆ นั้นได้ วัตถุประสงค์การวิจัยส่งนี้เพื่อพัฒนาความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนเมืองรุ่นใหม่ วิธีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายโดยใช้หลักจิตวิทยามุ่งสำรวจไปที่การทำกิจกรรม, ความสนใจ, ความเห็น, ทัศนคติ, การรับรู้คุณค่าที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่คนเมืองรุ่นใหม่ใช้รวมกลุ่ม ผลการวิจัยเป็นการนำเสนอวิธีการแบ่งกลุ่มคนแบบใหม่ที่อยู่บนฐานของของข้อมูลทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน ความเข้าใจกลุ่มคนในแต่ละกลุ่มตามหลักจิตวิทยาจะสามารถทำให้นักออกแบบและสถาปนิกสามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดีที่สุด ผลของการค้นพบสามาถใช้ประยุกต์กับโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในสาธารณะที่มีผู้ใช้พื้นที่เป็นคนเมืองรุ่นใหม่ในกรุงเทพมหานครหรือในเมืองอื่น ๆ ที่มีทัศนคติและการรับรู้ทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน