Abstract:
ยีสต์ Pichia anomala PY1 ที่ใช้ในการทดลองนี้ถูกแยกมาจากข้าวหมากที่อำเภอ พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี จากการศึกษาการเจริญ และการผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพในอาหารเหลว กำหนดสูตรที่มีน้ำมันถั่วเหลือง 4% เป็นแหล่งคาร์บอน มี NaNO₃ 0.4% เป็นแหล่งไนโตรเจนควบคุมค่าความเป็นกรดด่างเริ่มต้นเท่ากับ 5.5 บ่มที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เขย่าอัตราเร็ว 200 รอบต่อนาที เป็นเวลา 7 วัน โดยส่วนน้ำเลี้ยงเชื้อที่ไม่มีเซลล์ มีค่าการกระจายน้ำมันสูงสุด 5.07 ตารางเซนติเมตร มีค่าแรงตึงผิวต่ำสุดในวันที่ 7 เท่ากับ 38 มิลลินิวตันต่อเมตร และเมื่อทำการก่อการกลายพันธ์เพื่อเพิ่มการผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพโดยสาร Ethylmethane sulfonate คัดเลือกได้ยีสต์สายพันธุ์กลาย PY 12, PY 44, PY 189 พบว่ายีสต์สายพันธุ์กลายสามารถให้พื้นที่กระจายน้ำมันได้ดีกว่าประมาณ 1.14 1.69 และ 2.15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ PY 1 ตามลำดับ และให้ค่า ∆ST อยู่ในช่วง 24-26 มิลลินิวตันต่อเมตร และทำการกลายพันธุ์ Pichia anomala PY1 ด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตร่วมกับสาร Ethylmethane sulfonate คัดเลือกได้ยีสต์สายพันธุ์กลาย MUE24 ยีสต์สายพันธุ์กลายสามารถให้พื้นที่กระจายน้ำมันได้ดี 3-5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ PY1 ให้ค่า ∆ST ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ Py1 คือเท่ากับ 21 มิลลินิวตันต่อเมตร จากการวิเคราะห์สารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่ผลิตได้จากยีสต์สายพันธุ์กลายทั้ง 4 สายพันธุ์ ด้วยวิธีโครมาโตกราฟีแบบ Analytical Thin-Layer Chromatography พบว่า มีจำนวนลำดับส่วนไม่เท่ากัน และลำดับส่วนที่มีการกระจายน้ำมันสูงสุดของสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่ผลิตได้จากยีสต์สายพันธุ์กลายแต่ละสายพันธุ์จะมีค่าคงที่ของอัตราส่วนการเคลื่อนที่ (Rf) ที่ต่างจากของยีสต์ Pichia anomala Py1 และการศึกษาความสามารถในการก่ออิมัลชันของสารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่ผลิตได้โดยการวัดค่าความเสถียรในการก่ออิมัลชัน (Emulsification stability) และค่าดัชนีการเกิดอิมัลชัน (Emulsion Index) ต่อน้ำมัน 2 ชนิด ได้แก่ น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วเหลืองที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งให้ค่าค่าดัชนีการเกิดอิมัลชันมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำมันคาโนลา คือ ยีสต์สายพันธุ์กลาย PY 12, PY 44, PY 189 และ MUE 24 และให้ค่าค่าดัชนีการเกิดอิมัลชันมากกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำมันถั่วเหลือง คือยีสต์สายพันธุ์กลาย PY44 และ MUE24