Abstract:
ความหลากหลายทางชนิดของปลวกได้ถูกศึกษาที่จังหวัดน่าน ในพื้นที่ป่าเต็งรังและพื้นที่สวนมะม่วง บริเวณสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน (สถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์) ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน การศึกษาชนิดของปลวกในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 พบปลวกทั้งสิ้น 4 ชนิดในทั้งสองพื้นที่ ได้แก่ ปลวกชนิด Globitermes sulphureus ในวงศ์ย่อย Termitinae, Macrotermes sp. และ Odontotermes sp. ในวงศ์ย่อย Macrotemitinae และปลวกชนิด Nasutitermes sp. ในวงศ์ย่อย Nasutitermitinae ซึ่งปลวกทั้งหมดที่พบจัดอยู่วงศ์ Termitidae ความหลากทางชนิดของมดได้ทำการศึกษาทั้งในจังหวัดน่านและจังหวัดสระบุรี โดยในบริเวณสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีไหล่น่าน (สถานีวิจัยคัดเลือกและบำรุงพันธุ์สัตว์) ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้ทำการศึกษาในสองพื้นที่ศึกษาคือ พื้นที่ป่าเต็งรังและพื้นที่สวนมะม่วง โดยทำการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 ผลการศึกษาในทั้งสองพื้นที่ศึกษา พบมดทั้งสิ้น 62 ชนิด จัดอยู่ใน 6 วงศ์ย่อย ได้แก่ วงศ์ย่อย วงศ์ย่อย Dolichoderinae (5 ชนิด), วงศ์ย่อย Dorylinae (2 ชนิด), วงศ์ย่อย Formicinae (16 ชนิด), วงศ์ย่อย Myrmicinae (24 ชนิด), วงศ์ย่อย Ponerinae (10 ชนิด) และวงศ์ย่อย Pseudomyrmecinae (5 ชนิด) ชนิดของมดที่พบในพื้นที่ป่าเต็งรัง มีน้อยกว่าในพื้นที่สวนมะม่วง มดเด่นที่พบในพื้นที่ป่าเต็งรัง คือ มดแดง Oecophylla smaragdina ในขณะที่มดเด่นในพื้นที่สวนมะม่วง คือ มดง่าม Pheidologeton diversus โดยมดทั้งสองชนิดถูกพบในฤดูแล้งมากกว่าฤดูฝน นอกจากนี้ในปี 2557 พบมดที่หาค่อนข้างยากเพิ่มอีกสองชนิดคือ Aenictus binghami (วงศ์ย่อย Aenictinae) และ Dorylus vishnui (วงศ์ย่อย Dorylinae) ช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 ได้ทำการศึกษาพื้นที่แนวเส้นทางเดินธรรมชาติเชิงนิเวศในช่วงต้นทางเข้า (ป่าเต็งรัง) พบมด 22 ชนิด จัดอยู่ใน 6 วงศ์ย่อย และช่วงปลายของแนวเส้นทางเดินธรรมชาติเชิงนิเวศ (ป่าเบญจพรรณ) พบมด 25 ชนิด จัดอยู่ใน 5 วงศ์ย่อย ในปี 2561 ได้สำรวจมดตามแนวทางเดินบริเวณริมอ่างน้ำ ในสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีผาสิงห์ (ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และพบมดทั้งสิ้น 3 ชนิด จัดอยู่ใน 2 วงศ์ย่อย สำหรับพื้นที่โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีนั้น ได้ทำการศึกษาในสองพื้นที่ศึกษาคือ พื้นที่ป่าเบญจพรรณและพื้นที่สวนป่าสัก โดยทำการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2558-2560 ผลการศึกษาพบว่า ในพื้นที่ป่าเบญจพรรณพบมด 23 ชนิด 5 วงศ์ย่อย และในพื้นที่สวนป่าสักพบมด ทั้งสิ้น 14 ชนิด 4 วงศ์ย่อย