Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมขัดฟันต้นแบบที่มีสารป้องกันฟันผุจากสารสกัดเปลือกทุเรียน โดยทำการศึกษาความเข้มข้นของสารพอลิแซคคาไรด์ (PG) และสภาวะที่เหมาะสมในกระบวนการเคลือบสาร PG บนเส้นไหม โดยทำการศึกษาความเข้มข้นของสารละลาย PG ตั้งแต่ 4-8% พบว่า เมื่อพิจารณาปริมาณ PG ที่เคลือบอยู่บนเส้นไหม ความเข้มข้นของสารละลาย PG ที่ดีที่สุด คือ 6% ในน้ำกลั่น อย่างไรก็ตามเส้นไหมที่ได้ในขั้นต้นมีลักษณะแข็ง และสาร PG ที่เคลือบบนเส้นไหมจะมีลักษณะเปราะและหลุดจากเส้นไหมได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเติมกลีเซอรอลเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น มีอัตราส่วนระหว่างน้ำกลั่นต่อกลีเซอรอลที่ใช้ดังนี้ 90:10 80:20 และ 70:30 การใช้กลีเซอรอลที่สัดส่วนสูงกว่า 30 จะทำให้ PG ไม่สามารถละลายได้ โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุด อยู่ที่ 90:10 สำหรับสภาวะที่ใช้ในกระบวนการเคลือบเส้นไหมอย่างต่อเนื่องซึ่งดัดแปลง โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากกระบวนการเคลือบแบบแบทช คือ ใช้เวลา 2 นาทีในขั้นตอนการเคลือบ และ 3 นาทีในขั้นตอนการอบเส้นไหมให้แห้งโดยให้ลมร้อนที่อุณหภูมิ 70℃ ผลการทดสอบการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ของไหมขัดฟันต้นแบบเทียบกับไหมขัดฟันที่มีจำหน่ายในท้องตลาดที่มีฟลูออไรด์และไหมขัดฟันที่ไม่เคลือบแว็กซ์ พบว่าไหมขัดฟันต้นแบบสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ 99% ในขณะที่ไหมขัดฟันที่มีจำหน่ายในท้องตลาดและไหมขัดฟันที่ไม่เคลือบแว็กซ์ไม่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ (0%) จากการสำรวจความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์จะอยู่ที่ 86.3% โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์แล้วร้อยละ 85 สนใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้หารมีการวางจำหน่าย