Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์คุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์ 2) วิเคราะห์การสืบสานคุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรม และ 3) นำเสนอแนวทางการสืบสานคุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรม มีขอบเขตการวิจัยคือ ศึกษาน้ำพริกที่ใช้เป็นเครื่องจิ้ม ได้แก่ น้ำพริกกะปิและน้ำพริกปลาร้าในกรุงเทพและปริมณฑล ประเทศไทย แจ่วบองในหลวงพระบาง ประเทศลาว และตึกเกรืองในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นกรณีศึกษา มีวิธีดำเนินการวิจัย คือ การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารโดยเฉพาะน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์ และการวิจัยภาคสนามในพื้นที่กรณีศึกษา ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกโดยแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง มีกลุ่มผู้ให้ข้อมูล 3 กลุ่มได้แก่ นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เกี่ยวกับน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์ ในไทยจำนวน 15 คน ลาวจำนวน 15 คน กัมพูชาจำนวน 30 คน รวม 60 คน และนำผลการวิเคราะห์ที่ได้มาเสนอแนวทางการสืบสานคุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์
ผลการวิจัยพบว่า 1) คุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์แบ่งเป็น 5ประเด็นได้แก่ (1) ด้านประวัติศาสตร์สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นรากเหง้าที่ผสานเราชาวอุษาคเนย์ไว้ด้วยกัน (2) ด้านสุนทรียศาสตร์สะท้อนอัตลักษณ์ความงามที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก (3) ด้านจริยศาสตร์สะท้อนอัตลักษณ์ความรักความอบอุ่นในแบบฉบับของชาวอุษาคเนย์ (4) ด้านภูมิปัญญาสะท้อนอัตลักษณ์การดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และ (5) ด้านวิถีชีวิตสะท้อนอัตลักษณ์วิถีแห่งอุษาคเนย์
2) การสืบสานคุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์ในอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า เป็นการสืบสานผ่านรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ ได้แก่ วิทยาลัยวิชาชีพและมหาวิทยาลัย การศึกษานอกระบบ ได้แก่ ร้านอาหารและโรงเรียนสอนทำอาหาร และการศึกษาตามอัธยาศัยได้แก่ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยตรงในครัวเรือน ได้แก่ สมาชิกในครอบครัวและชุมชน
3) แนวทางการสืบสานคุณค่าและอัตลักษณ์ร่วมทางวัฒนธรรมของน้ำพริกแห่งอุษาคเนย์ควรส่งเสริมการสืบสานผ่านรูปแบบการศึกษาตลอดชีวิตโดยมีสถาบันครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้จากรุ่นสู่รุ่น