Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์สองประการ 1) เพื่อศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ [มนุษย์คือสัตว์] ในนวนิยายจีนเรื่อง หงเกาเหลียง และ 2) เพื่อศึกษากลวิธีการแปลเป็นภาษาไทยในฉบับแปลไทยเรื่อง ตำนานรักทุ่งสีเพลิง จากการศึกษาอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ [มนุษย์คือสัตว์] จำนวน 184 ตัวอย่าง พบอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ ดังนี้ [มนุษย์คือสัตว์สี่เท้า] [มนุษย์คือสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ] [มนุษย์คือสัตว์ปีก] และ [มนุษย์คือสัตว์เลื้อยคลานและแมลง] โดยมีการเชื่อมโยงมโนทัศน์ของสัตว์กับมนุษย์สี่ประการใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ รูปร่างลักษณะและอากัปกิริยา ความสามารถ พฤติกรรมและนิสัยที่ดี และพฤติกรรมและนิสัยที่ไม่ดี
จากการศึกษากลวิธีการแปลอุปลักษณ์ดังกล่าวนี้ในฉบับแปลไทยพบทั้งสิ้น 7 กลวิธี เรียงตามความถี่ที่พบจากมากไปน้อย ได้แก่ การแปลเอาความ การแปลอุปลักษณ์ตรงความ การละไม่แปล การแปลอุปลักษณ์ตรงความแต่ลดข้อความบางส่วน การแทนที่ทางวัฒนธรรม การแปลอุปลักษณ์ตรงความร่วมกับการอธิบายหรือเสริมความ และการแปลอุปลักษณ์เดิมบางส่วน