Abstract:
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องราวที่แสดงความสัมพันธ์ในฐานะคู่ขัดแย้งระหว่างพระลักษมณ์และราวณะในปอุมจริยะของวิมลสูริและรามายณะของวาลมีกิ และวิเคราะห์ลักษณะการดัดแปลงนิทานพระรามในบริบทศาสนาเชนที่ปรากฏผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง ผลการศึกษาพบว่าเรื่องราวที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระลักษมณ์และราวณะในรามายณะฉบับวาลมีกิแทบจะมิได้ปรากฏ เนื่องด้วยรามายณะฉบับวาลมีกินั้นเน้นเสนอภาพความขัดแย้งระหว่างพระรามกับราวณะ ในขณะที่ปอุมจริยะของวิมลสูริมีการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครทั้งสองผ่านเรื่องราวความขัดแย้งที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตชาติ ลักษณะความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง ได้แก่ (1) การเกิดร่วมกันในทุกภพชาติ (2) การมีชะตาต้องสังหารกัน และ (3) การก้าวผ่านอีกฝ่ายเพื่อเปลี่ยนสถานภาพ ผลการวิเคราะห์ลักษณะการดัดแปลงนิทานพระรามในบริบทศาสนาเชนจากเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง พบว่ามีการดัดแปลงนิทานพระราม 2 ลักษณะ คือ (1) ดัดแปลงโดยรักษาโครงเรื่องนิทานดั้งเดิมไว้ และ (2) สร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ การดัดแปลงนิทานพระรามเช่นนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางศาสนาเรื่องศลากาปุรุษะและเรื่องกรรมกับสังสารวัฏ ทำให้ปอุมจริยะ รามายณะฉบับของศาสนาเชนกลายเป็นวรรณคดีทางศาสนาที่มีการนำเสนอแนวคิดทางศาสนาสอดแทรกอยู่ในเรื่องอย่างลงตัว