Abstract:
วรรณกรรมญี่ปุ่นที่นำเสนอแนวคิดเรื่องดิสโทเปีย เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมและถูกกล่าวถึงมากขึ้น ในปัจจุบัน นวนิยายเรื่อง เค็นโทฌิ โดยทะวะดะ โยโกะ เป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียที่เสนอภาพกรุงโตเกียวที่มีความเสื่อมโทรม ซับซ้อน และยากจนอันเนื่องมาจากภัยจากพลังงานปรมาณูนิวเคลียร์ ซึ่งภาพอนาคตของกรุงโตเกียวที่มีลักษณะเป็นดิสโทเปียนี้ได้รับการรังสรรค์ผ่านองค์ประกอบหลักของเรื่อง เช่น ตัวละคร ฉาก บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาว่าทะวะดะ โยโกะ ใช้คู่ตรงข้ามในการนำเสนอแนวคิดเรื่องดิสโทเปียอย่างไร และแนวคิดเรื่องดิสโทเปียนั้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันอย่างไร จากการศึกษา พบว่าทะวะดะ โยโกะ ใช้คู่ตรงข้าม เช่น คนชรา-เด็กและหนุ่มสาว หญิง-ชาย เมืองศูนย์กลาง-เมืองชายขอบประเทศกำลังพัฒนา-ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อนำเสนอโลกดิสโทเปียในอนาคตของญี่ปุ่นที่มีความพลิกผันของขั้วอำนาจและมีความเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์ตามแบบเดิม โดยแนวคิดเรื่องดิสโทเปียนี้แสดงให้เห็นถึงประเด็นปัญหาสังคมปัจจุบัน คือ ประเด็นเรื่องปัญหาสังคมสูงวัย และ ภัยอันเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์