Abstract:
พิโนสโทรบิน เป็นฟลาวาโนนชนิดหนึ่งที่พบในกระชายเหลือง (Boesenbergia pandurata) ถูกค้นพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งวิถีการส่งสัญญาณของแคลเซียมที่มีผลต่อการควบคุมการเจริญของยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ในการศึกษานี้มุ่งหมายที่จะศึกษาฤทธิ์ต้านการเจริญของพิโนสโทรบินและพิโนสโทรบินที่บรรจุในไลโปโซม (LipoPino) ในเซลล์ไลน์มะเร็งบางชนิด รวมทั้งศึกษาผลของพิโนสโทรบินที่มีต่อวัฎจักรการแบ่งเซลล์ของเซลล์ไลน์มะเร็งที่ไวต่อพิโนสโทรบิน โดยได้ศึกษาฤทธิ์ของพิโนสโทรบินที่มีต่อการต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว Jurkat เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร KATOIII เซลล์มะเร็งลำไส้ SW620 เซลล์มะเร็งตับ HepG2 เซลล์มะเร็งปากมดลูก Ca-Ski และเซลล์มะเร็งเต้านม BT474 พบว่าเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร KATOIII มีความไวต่อพิโนสโทรบินที่สุด ที่ค่า IC₅₀ 24.7±4.5 ไมโครโมลาร์ การใช้ LipoPino สามารถเพิ่มฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งของพิโนสโทรบินโดยมีค่า IC50 อยู่ในช่วง 2.6-9.3 ไมโครโมลาร์ (ยกเว้นในเซลล์มะเร็ง BT474 and SW620 ที่พบว่าไลโปโซมมีความเป็นพิษที่สูงในเซลล์ไลน์ทั้งสองชนิด) โดยไลโปโซมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพิโนสโทรบินได้ 2.7->20.9 เท่าเมื่อเทียบกับฤทธิ์ของการใช้พิโนสโทรบินอย่างเดียว ในการศึกษาผลของพิโนสโทรบินที่มีต่อวัฎจักรการแบ่งเซลล์โดยวิธี Flow cytometry พบว่าโดยการใช้พิโนสโทรบินที่ความเข้มข้น 2 เท่าของค่า IC₅₀ ณ วันที่ 4 พบว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว Jurkat และเซลล์มะเร็งเต้านม BT474 มีประชากรเซลล์ในระยะ sub G1 สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มควบคุมที่ไม่มีพิโนสโทรบิน และพบว่าประชากรของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร KATOIII หยุดอยู่ที่ระยะ G2/M อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลจากการศึกษานี้แนะนำว่าพิโนสโทรบิน สามารถถูกใช้เป็นสารต้านการเจริญในเซลล์มะเร็งหลายๆชนิดได้ และไลโปโซมสามารถนำมาใช้เป็นสิ่งนำส่งพิโนสโทรบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ในเซลล์มะเร็งบางชนิดได้