Abstract:
นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Grus antigone sharpii) ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ต่อมาได้มีการขอรับบริจาคนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากประเทศกัมพูชามาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ในสภาพกรงเลี้ยง ซึ่งการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ไม่ได้ต้องการเพิ่มจำนวนและอัตราความอยู่รอดของประชากรในสภาพกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมภายในประชากร ดังนั้นผู้วิจัยจึงใช้เครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอ ตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกกระเรียนพันธุ์ไทยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว (n = 11) โดยนำดีเอ็นเอที่สกัดได้จากโคนขน มาเพิ่มปริมาณไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอด้วย polymorphic primer ที่ ออกแบบมาจากจีโนมของ whooping crane G. Americana จำนวน 10 คู่และ blue crane Anthropoides paradise จำนวน 4 คู่ ผลการศึกษาพบการเบี่ยงเบนออกจากสมดุล Hardy-Weinberg ที่ โลคัส Gram8 ซึ่งเป็นผลมาจาก null allele และพบการปรากฏของ linkage disequilibrium ที่โลคัส Gpa12, Gpa34 และ Gpa35 จากการวิเคราะห์ค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์จำนวน 10 โลไซ พบว่าจำนวนอัลลีลต่อโลคัสมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.2 ค่า expected และ observed heterozygosity มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.59 และ 0.61 ตามลำดับ ค่า inbreeding coefficient มีค่าเท่ากับ - 0.03 จากผลที่ได้แสดงว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง และเกิด inbreeding น้อย ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการเพิ่มจำนวนประชากรในกรงเลี้ยงต่อไปในอนาคตได้ เพื่อเป็นตัวแทนประชากรที่จะนำกลับไปปล่อยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำในธรรมชาติของประเทศไทยต่อไป