Abstract:
ในงานวิจัยนี้ได้ทำสกัด และศึกษาสมบัติทางเคมีของกรดฮิวมิกจากดินปนเปื้อนโลหะหนัก 6 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม ทองแดง โครเมียม นิกเกิล ตะกั่วและสังกะสี และศึกษาการดูดซับของโลหะดังกล่าวบนดิน พบว่าการดูดซับของโลหะทุกชนิดลดลงเมื่อมีกรดฮิวมิก ศึกษาการคงตัวของโลหะหนักในดินที่มีกรดฮิวมิกโดยผ่านการปรับเสถียรและทำให้เป็นก้อนแข็งด้วยปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ ปริมาณกรดฮิวมิกและโลหะในดินมีผลทำให้ความทดต่อแรงอัดของก้อนก้อนของแข็งปรับเสถียรลดลง ทำการทดสอบก้อนของแข็งปรับเสถียรตามวิธีของ TCLP พบว่ากรดฮิวมิกสามารถลดการชะละลายของแคดเมียมและนิกเกิลลงอย่างมีนัยสำคัญ ศึกษาพฤติกรรมของการชะละลายของโลหะภายใต้ตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ พีเอช ชนิดของน้ำชะคือ น้ำปราศจากไอออน สารละลายโพแทสเซียมไนเทรต กรดอะซีติก และกรดฮิวมิกที่ความเข้มข้นต่าง ๆ อัตราส่วนระหว่างน้ำชะต่อก้อนของแข็งปรับเสถียร ระยะเวลาสัมผัส พบว่าพีเอชมีผลต่อการชะละลายของโลหะคือในภาวะที่เป็นกรดและเบสสูง การชะละลายจะสูงกว่าช่วงพีเอชที่เป็นกลางชนิดของน้ำชะมีผลต่อการชะละลายซึ่งจะแตกต่างกันสำหรับโลหะแต่ละชนิด โดยทั่วไปน้ำปราศจากไอออนและสารละลายโพแทสเซียมไนเทรตให้ผลการชะที่ไม่แตกต่างกัน กรดอะซีติกชะโลหะได้ดีที่ความเข้มข้นมากส่วนกรดฮิวมิกที่ความเข้มข้นมากมีความสามารถชะโลหะได้ลดลง โลหะละลายได้มากขึ้นเมื่ออัตราส่วนระหว่างน้ำชะต่อก้อนของแข็งปรับเสถียรเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบก้อนของแข็งปรับเสถียรที่เติมและไม่เติมกรดฮิวมิกพบว่า การชะละลายมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในกรณีของนิกเกิลและตะกั่ว ผลการศึกษาการชะละลายของก้อนก้อนของแข็งปรับเสถียรที่เวลาต่าง ๆ พบว่าเมื่อเวลาเพิ่มขึ้นโลหะละลายได้มากขึ้น แต่ฟลักซ์การชะละลายลดลง ผลการชะละลายนำไปสู่การหาตัวแปรอินพุทสำหรับแบบจำลองการชะละลายซึ่งผนวกการเคลื่อนที่กับปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในสารละลายในรูพรุนของก้อนของแข็งและน้ำชะแบบจำลองสามารถคำนวณความเข้มข้นและปริมาณการชะละลายของแต่ละสปีชีส์