Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นงานต่อยอดจากการศึกษาในปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการป่าชุมชนกับทรัพยากรของป่าที่สำคัญ และสร้างแบบจำลองเชิงบูรณาการในรูปแบบเกมสวมบทบาทสมมุติโดยมีคอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผล (computer-assisted role-playing game) การศึกษาทำโดยการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยใช้วิธี snowball sampling และสร้างแบบจำลองโดยใช้ Cormas (Common-pool resource management agent-based simulation) platform ผลการศึกษาพบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ได้แก่ ชาวบ้าน องค์การบริหาร ส่วนตำบลไหล่น่าน คณะผู้วิจัย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยังมีอีก 2 กลุ่ม ที่ปัจจุบันยังไม่มีบทบาทในการจัดการป่าชุมชน ได้แก่ ครูและนักเรียนโรงเรียนสา ซึ่งสองกลุ่มนี้เสนอโดยชาวบ้าน สำหรับแบบจำลองที่สร้างขึ้นใช้ชื่อว่า “CoComForest” ย่อมาจาก “Collaborative Community Forest Management (การจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม)” ประกอบด้วยองค์ประกอบที่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน (Community forest spatial landscape) ชาวบ้านที่เก็บของป่าและทรัพยากรหลักในป่าชุมชน ได้แก่ ผักหวานป่า Melientha suavis, ไข่มดแดง (queen brood of Oecophylla smaragdina) และเห็ดป่าที่นำมาบริโภคได้ (edible mushrooms) แบบจำลองนี้ประกอบด้วยสถานการณ์จำลอง 3 สถานการณ์ ได้แก่ 1) สถานการณ์ที่ไม่มีการพูดคุยกันระหว่างชาวบ้านที่เก็บของป่า (ผู้เล่น) ต่างคนต่างตัดสินใจเช่นเดียวกันกับในชีวิตจริง 2) สถานการณ์ที่ผู้เล่นสามารถพูดคุยกันได้เพื่อสร้างแนวกันไฟ และ 3) สถานการณ์ที่มีคนนอกตำบลเข้ามาเก็บของป่าในป่าชุมชนตำบลไหล่น่าน แบบจำลองที่สร้างขึ้นนี้จะนำไปใช้ร่วมกับชาวบ้านและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ตำบลไหล่น่านในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการในปีต่อไป เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรที่สำคัญในป่าชุมชนกับผู้ใช้ทรัพยากรที่มีกระบวนการตัดสินใจที่แตกต่างกัน และกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับปัญหาป่าชุมชนในปัจจุบัน ตลอดจนร่วมกันหาทางในการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน