Abstract:
บทความนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างแฟชั่นเครื่องแต่งกายและวิถีชีวิตอิตาเลียนรูปแบใหม่กับการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมของตัวละครซึ่งกลายเป็นสูตรสำเร็จของภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อประเภทตลกโรแมนติกเสียดสีสังคอิตาเลียนชั้นสูง หรือที่เรียกว่า “ภาพยนตร์โทรศัพท์สีขาว” ที่สร้างขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่สองของระบบเผด็จการฟาสซิสต์อิตาลี โดยเลือกวิเคราะห์ภายยนตร์อิตาเลียนจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ Daro un milione [ผมจะให้เงินล้านนึง] (1935) Il Signor Max [คุณชายแม็กซ์] (1937) และ I Grandi Magazzini [ห้างสรรพสินค้า] (1939) ³ ของมาริโอ คาเมรินี ผู้กำกับชาวอิตาเลียน ภาพยนตร์ประเภทนี้เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลฟาสซิสต์ของนายกรัฐมนตรีเบนิโต มุสโสลินี ใช้สร้างปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองแนวใหม่และตอบสนองความต้องการของมวลชน ด้วยการนำเสนอภาพจำลองวิถีชีวิตของคนอิตาเลียนในสังคมอุดมคติผ่านตัวละคร ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานรับจ้างและชนชั้นกลางระดับล่าง เพียงหวังว่าอาจเป็นภาพฝันที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมจำนวนมากเกิดความประทับใจ และมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตบนโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีความสุขและเหมาะสมตามนโยบายฟาสซิสต์ รวมถึงสร้างความรู้สึกร่วมในหมู่มวลชน อันจะนำไปสู่ความนิยมรัฐบาลและฉันทามติได้ แฟชั่นเครื่องแต่งกายของตัวละครจึงมีบทบาทสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ สะท้อนบุคลิกลักษณะ อัตลักษณ์ และภูมิหลังของตัวละคร ซึ่งมาจากฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีส่วนร่วมถ่ายทอดรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ และขับเคลื่อนนโยบายสร้าง “คนอิตาเลียนแบบใหม่” พร้อมทั้งส่งเสริมอุดมการณ์ชาตินิยมและรัฐนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศอิตาลีในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย