Abstract:
การวิจัยการจัดทำพจนานุกรมภาพภาษาไทย-มลายูปาตานี-มลายูกลาง และบทสนทนา ภาษาไทย-มลายูปาตานีเพื่อการสื่อสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อนำคำศัพท์และสำนวนภาษามลายูปาตานีที่ใช้ในสังคมมลายูปาตานีมาจัดทำเป็นหนังสืออ้างอิงและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนต่อไป โดยในเบื้องต้นมุ่งเน้นการนำไปใช้ในการอบรมภาษามลายูปานีแก่ข้าราชการที่ไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบุคคลทั่วไป เนื่องจากผู้วิจัยตระหนักถึงสภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การวิจัยเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวข้างต้นใช้ระบบเขียนแทนเสียงภาษามลายูปาตานีด้วยอักษรไทยของราชบัณฑิตยสถาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษามลายูปาตานีได้โดยง่ายและรวดเร็ว ในการวิจัยเพื่อจัดทำพจนานุกรมภาพภาษาไทย – มลายูปาตานี – มลายูกลาง ผู้วิจัยได้วางขอบเขตของศัพท์ไว้ 25 หมวด ซึ่งได้คำศัพท์ประมาณ 1,000 คำ แต่ละคำบรรจุคำศัพท์ 3 ภาษาดังกล่าว พร้อมภาพประกอบที่เต็มไปด้วยความรู้ทางวัฒนธรรมของชาวมลายูปาตานีซึ่งมีวิถีชีวิตที่มีศาสนาอิสลามเป็นแสงส่องทาง โดยผู้วิจัยได้รวบรวมเก็บข้อมูลการใช้คำทั้งข้อมูลทางเอกสารและข้อมูลภาคสนามในหน่วยงานราชการทางด้านการศึกษา การปกครองและสาธารณสุข ตลอดจนตามชุมชนในจังหวัด ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส และนำมาศึกษาวิเคราะห์ และจัดระบบภาพและคำศัพท์ตามหลักวิชาของพจนานุกรมศาสตร์ (Lexicography) สำหรับหนังสือบทสนทนาภาษาไทย-มลายูปาตานีเพื่อการสื่อสาร ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลคำศัพท์และสำนวนที่ใช้ในแต่ละสถานการณ์ในสถานที่ทางราชการและสถานการณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม โดยได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคลากรในหน่วยงานราชการทางด้านการศึกษา การปกครอง และสาธารณสุข ตลอดจนตามชุมชน ในจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และนำมาศึกษาวิเคราะห์ตามหลักวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Linguistics) เพื่อนำมาสร้างบทสนทนา 2 ภาษาที่สามารถใช้ในการสอนภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นปาตานีในการสื่อสารตามที่ Larsen-Freeman (2000:128-132) ได้กล่าวไว้ว่าเป้าหมายของการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนั้น คือ การทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารในภาษาที่เรียนได้โดยให้เลือกรูปแบบของภาษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ใช้ในการสื่อสาร ปริบททางสังคม ตลอดจนบทบาทของสังคมของผู้ร่วมสนทนาด้วยซึ่งเน้นเรื่องหน้าที่ของภาษามากกว่ารูปแบบของภาษา การวิจัยและเก็บข้อมูลเพื่อทำหนังสือเล่มนี้เน้นเก็บข้อมูลเพื่อสร้างบทสนทนาตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม พร้อมทั้งมุ่งเน้นบทสนทนาและคำศัพท์ที่ใช้ติดต่อประสานงานตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยสามารถนำข้อมูลออกมานำเสนอเป็น 15 บท ในแต่ละบทได้ให้ความหมายของคำศัพท์ และสำนวนต่าง ๆ มีการอธิบายหลักการใช้ภาษาโดยการประยุกต์ใช้หลักไวยกรณ์ภาษามลายูกลางและความรู้ทางด้านภาษามลายูปาตานีจากการเป็นเจ้าของภาษาและจากงานวิจัยระดับปริญญาโทของผู้วิจัยเอง เนื่องจากยังไม่มีผู้เขียนหลักไวยากรณ์ภาษามลายูปาตานี การสำรวจรวบรวมและเก็บข้อมูล คำศัพท์และบทสนทนาเพื่อไปทำหนังสือทั้งสองเล่มได้รวบรวมโดย 1) เสนอรายการคำศัพท์และบทสนทนาด้วยตนเองเนื่องจากผู้วิจัยเป็นเจ้าของภาษา 2) ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทางภาคสนามในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ในหน่วยงานราชการ คือ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานทางด้านการศึกษา และหน่วยงานด้านการปกครอง นอกจากนี้ยังได้จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งผู้ที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่และผู้ที่พูดภาษามลายูเป็นภาษาแม่ 3) ตรวจสอบคำและความหมายจากพจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ไทย-มลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งจัดทำโดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 4) พูดคุยติดต่อทางโทรศัพท์กับผู้บอกภาษาที่ทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น หมอและตำรวจ 5) ในส่วนของศัพท์ภาษามลายูกลางผู้วิจัยได้ตรวจสอบกับพจนานุกรม “KAMUS DEWAN EDISI KETIGA” ผลจากการวิจัยและเก็บข้อมูลเพื่อทำหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในการจะสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรมที่อยู่ในสังคมเดียวกันด้วยการสร้างความเข้าใจในการสื่อสาร ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเข้าใจกันระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หากแต่รวมถึงประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเองซึ่งมีภาษแม่ที่ต่างกัน