Abstract:
แม่น้ำปิง-วัง-ยม-น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศ แนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำได้ส่งผลให้มีน้ำเสียเกิดขึ้นมากตามกันไป ประกอบกับแนวโน้มการลดลงของปริมาณน้ำแม่น้ำ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหามลภาวะแหล่งน้ำ มีชุมชนหนาแน่น 21 แห่ง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเหล่านี้ รวมทั้งได้อาศัยแม่น้ำต่าง ๆ นี้เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตประปา ซึ่งในขณะเดียวกันก็ระบายน้ำทิ้งชุมชนกลับลงสู่แม่น้ำเหล่านี้ ปัจจุบันชุมชนหนาแน่นที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเหล่านี้มีโรงบำบัดน้ำเสียเพียง 48 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนชุมชนหนาแน่นทั้งหมด การบำบัดน้ำเสียมุ่งเน้นในการลดปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำเสียเท่านั้น โดยไม่มีการกำจัดสารอาหารออกจากน้ำทิ้งที่บำบัดแล้ว ดังนั้นโอกาสของการเกิดปัญหาสภาพการเพิ่มผลผลิตปฐมภูมิอย่างเร็ว (การแพร่กระจายของสาหร่าย และวัชพืชน้ำ) จึงยังคงมีอยู่ ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าไนโตรเจนเป็นสารอาหารที่เป็นปัจจัยจำกัดของแม่น้ำทุกสาย แต่การควบคุมและป้องกันปัญหามลพิษจากสารอาหารในแม่น้ำอาจทำได้โดยการควบคุมปริมาณฟอสฟอรัส อย่างไรก็ตามการควบคุมปริมาณไนโตรเจนก็จำเป็นขึ้นอยู่กับสภาพการณ์คุณภาพน้ำในแต่ละบริเวณ ระบบบำบัดแบบธรรมชาติถูกเสนอให้ใช้เนื่องจากมีข้อดีหลายประการและรวมถึงสามารถกำจัดสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การควบคุมสารอาหารในแหล่งน้ำยังต้องคำนึงถึงที่มาของสารอาหารจากแหล่งกำเนิดไม่ถาวรด้วย