Abstract:
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าการลงทุนมหาศาล การที่จะดึงดูดผู้เดินทางให้เข้ามาใช้บริการได้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการเดินทางในระบบรางจะต้องมีระบบป้อนผู้โดยสารเข้ามาถึงสถานีที่มีประสิทธิภาพ การวิจัยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความพึงพอใจในรูปแบบการเดินทางที่ใช้ในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในปัจจุบันของผู้เดินทางที่ใช้รถไฟฟ้า พร้อมทั้งหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และศึกษาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกรูปแบบการเดินเท้าและวิธีอื่นๆ เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนโดยการพัฒนาแบบจำลองพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทาง (Mode Choice Model) การวิจัยได้ใช้แบบสอบถามเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล โดยการสัมภาษณ์ผู้เดินทางที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 13 สถานี จำนวน 1,013 คน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยโปรแกรม STATA จากผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า รูปแบบที่มีใช้เดินทางเข้ามายังสถานีรถไฟฟ้ามากที่สุดร้อยละ 21 ของกลุ่มตัวอย่าง เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง รองลงมาคือ การเดินคิดเป็นร้อยละ 17 ของกลุ่มตัวอย่าง ใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ย 42.68 นาที และ 8.24 นาที ตามลำดับ และระดับความพึงพอใจในแต่ละรูปแบบการเดินทางส่วนใหญ่อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลาง ยกเว้น การเดิน รถบริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส รถยนต์ และการมีคนส่ง ที่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก จากผลจากวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อความสามารถในการเข้าถึงเป็นตัวแปรจากคุณลักษณะการเดินทาง และการใช้พื้นที่ ได้แก่ จำนวนการเปลี่ยนต่อ เวลาในการเดินทางจากสถานีถึงจุดหมายปลายทาง เวลาในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และความหนาแน่นของที่พักอาศัย นอกจากนี้ผลที่ได้จากศึกษาพฤติกรรมการเลือกรูปแบบการเดินทางระหว่างรูปแบบการเดินเท้าและรูปแบบการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนรองอื่นๆ อื่น ด้วยการพัฒนาแบบจำลองประเภทโลจิตทวินาม พบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ระดับความสะดวกสบาย ระยะทางการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า สถานภาพการแต่งงาน การมีรถยนต์ในครอบครอง และตัวแปรหุ่นของแต่ละสถานีซึ่งอาจสามารถสะท้อนถึงความเหมาะสมของโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนที่อยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรจากสถานีรถไฟฟ้า