Abstract:
การประเมินความเสี่ยงการดื้อยาต้านจุลชีพของ Vibrio parahaemolyticus ในกุ้ง ประกอบด้วย 4 ชั้นตอน คือ การระบุอันตราย (hazard identification) การอธิบายอันตราย (hazard characterization) การประเมินการสัมผัส (exposure assessment) และการอธิบายความเสี่ยง (risk characterization) การประเมินการสัมผัสเป็นการวิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนในรูปของความเข้มข้น (concentration) และความชุก (prevalence) ของ Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพในกุ้ง โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างกุ้ง ต่อเนื่อง 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2560-2561 รวมทั้งสิ้น 1,080 ตัวอย่าง เก็บตัวอย่างจากจังหวัดที่เป็นตัวแทนภาคทั่วประเทศ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพ กาญจนบุรี ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และ ประจวบคีรีขันธ์ แบ่งส่วนย่อยในการเก็บตัวอย่างในตลาดสด ตลาดทันสมัย อำเภอเมือง และ นอกอำเภอเมือง เพื่อเปรียบเทียบระดับการปนเปื้อน และความเสี่ยงจาก Vibrio parahaemolyticus ความชุกเฉลี่ย ปี 1 และ ปี 2 (average prevalence) ของ Vibrio parahaemolyticus ในกุ้งอยู่ระหว่างร้อยละ 18-80 และ 69-94 ตามลำดับ ในขณะที่ระดับการปนเปื้อนเฉลี่ย Vibrio parahaemolyticus ในกุ้ง ปี 1 และ ปี 2 อยู่ระหว่าง 0.10-0.39 log mpn/กรัม ตามลำดับ ระดับความชุกและการปนเปื้อน Vibrio parahaemolyticus ในกุ้งใช้เป็นข้อมูลของความชุกและการปนเปื้อน Vibrio parahaemolyticus r ที่ดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ที่ Vibrio parahaemolyticus ที่แยกได้ทั้งหมดดื้อต่อยาต้านจุลชีพ 15 ชนิดที่ทดสอบ คือ ampicillin, cefepime, cefotaxime, cefoxitin, chloramphenicol, ciprofloxacin, colistin, gentamicin, imipenem, meropenem, nalidixic acid, streptomycin, sulphamethoxazole, tetracycline และ trimethoprim การอธิบายอันตรายเป็นขั้นตอนในการคำนวณความน่าจะเป็นในการเจ็บป่วยจากการได้รับ Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพเข้าสู่ร่างกายจากการบริโภคกุ้ง โดยใช้ dose-response model ชนิด Beta-Poisson ตามด้วยการคำนวณความน่าจะเป็นที่เกิดจากการดื้อยาต้านจุลชีพที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือความน่าจะเป็นในการตายจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (probability of AMR mortality) ประกอบด้วย 3 เหตุการณ์ต่อเนื่องกัน คือ การเข้ารักษาในโรงพยาบาล (hospitalization) การใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษา (antimicrobial prescription) และการตายจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR mortality) การอธิบายความเสี่ยง เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่บูรณาการการประเมินการสัมผัส ในรูปแบบของความน่าจะเป็นในการสัมผัสกับ Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพจากการบริโภคกุ้ง และการอธิบายอันตรายในรูปของความน่าจะเป็นในการตายจาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพ ได้เป็นความเสี่ยงเสียชีวิตรายปี (annual mortality risk) ของประชากรไทยในแต่ละจังหวัดตาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพจากการบริโภคกุ้ง และรายงานในรูปของจำนวนประชากรชาวไทยในแต่ละจังหวัดที่เสียชีวิตต่อปี (annual mortality cases) จาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพจากการบริโภคกุ้ง พบว่าความเสี่ยงเฉลี่ยเสียชีวิตรายปีจาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพจากการบริโภคกุ้ง ปี 1 และ ปี 2 อยู่ระหว่าง 1 x 10⁻⁷ - 8 x 10⁻⁷ และ 2 x 10⁻⁷ - 7 x 10⁻⁷ ซึ่งจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (acceptable risk)ในขณะที่จำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดที่เสียชีวิตจาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพจากการบริโภคกุ้ง ปี 1 และ ปี 2 ระหว่าง 0.11-0.75 คน/ปี และ 0.31-0.74 คน/ปี ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 1 คน/ปีเทียบเท่ากับระดับความเสี่ยงที่ละเลยได้ (negligible risk) ดังนั้น การบริโภคกุ้งจึงมีความปลอดภัยสูงมากจาก Vibrio parahaemolyticus ที่ดื้อยาต้านจุลชีพ