Abstract:
บทนำ: ยาไรแฟมปิซินสามารถกระตุ้นเอนไซม์ไซโตโครม P450 ได้ซึ่งทำให้ระดับยาโลพินาเวียร์ลดลงอย่างมากเมื่อให้ยาคู่กันจึงมีคำแนะนำให้ใช้ยาไรฟาบูตินแทนไรแฟมปิซินเมื่อต้องใช้คู่กับยาโลพินาเวียร์ อย่างไรก็ตามขนาดยาไรฟาบูตินที่แนะนำอาจไม่เพียงพอ จุดประสงค์หลักของการศึกษานี้คือเพื่อเปรียบเทียบค่าเภสัชจลนศาสตร์ของยาไรฟาบูตินขนาด 150 มก. วันละครั้งกับ 300 มก. สามครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อให้คู่กับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ขนาด 400/100 มก. วันละสองครั้ง ในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ร่วมกับวัณโรค วิธีการวิจัย: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มซึ่งไม่ปกปิดทั้งผู้วิจัยและผู้ร่วมการศึกษาโดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม เป็นการศึกษาทางเภสัชจลนศาสตร์ และประสิทธิภาพของยาที่ 48 สัปดาห์หลังการรักษา ในผู้ป่วยชาวไทยที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับวัณโรค การศึกษานี้จะวัดค่าเภสัชจลนศาตร์ของยาไรฟาบูตินก่อนและหลังให้ยาไรฟาบูตินร่วมกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ระหว่าง 2 ถึง 8 สัปดาห์ โดยวิธี high performance liquid chromatography (HPLC) และ LC-MS/MS (Liquid Chromatograph-Mass spectrometer) ผลการศึกษา: ผู้ร่วมการศึกษาทั้งหมด 34 คน แต่ที่ได้การรักษาครบ 48 สัปดาห์และมีผลการตรวจระดับยาแล้ว 21 คน ดังนั้นรายงานนี้ได้รวบรวมข้อมูลคนไข้จำนวน 21 คน โดย 10 คน ได้รับยาไรฟาบูตินขนาด 150 มก. วันละครั้งและ 11 คนได้รับยาไรฟาบูตินขนาด 300 มก. สามครั้งต่อสัปดาห์ ค่าชีวปริมาณออกฤทธิ์ (AUC) ของยาไรฟาบูติน ขนาด 150 มก. วันละครั้งร่วมกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์สูงกว่าเมื่อให้ยาไรฟาบูตินตัวเดียวร้อยละ 41.9 แต่ผู้ป่วยที่ได้ยาไรฟาบูตินขนาด 300 มก. สามครั้งต่อสัปดาห์ร่วมกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์นั้นมี AUC สูงกว่าเมื่อให้ยาไรฟาบูตินตัวเดียวร้อยละ 145.2 หลังจากให้ยาไรฟาบูตินร่วมกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์นาน 2-8 สัปดาห์พบว่าค่าเฉลี่ยเลขคณิต (สัมประสิทธิ์ความผันแปร) ของค่าความเข้มข้นสูงสุด (Cmax) ของยาไรฟาบูตินทั้งสองขนาดมีค่าใกล้เคียงกัน [0.65 (36%) เทียบกับ 0.82 (30%) มก./ล.] ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (สัมประสิทธิ์ความผันแปร) ของค่าชีวปริมาณออกฤทธิ์ (AUC) ของยาไรฟาบูตินขนาด 300 มก. สามครั้งต่อสัปดาห์สูงกว่าขนาด 150 มก. วันละครั้งถึงร้อยละ 72.7 [15.5 (43%) เทียบกับ 8.97 (37%) มก.ชม./ล.] ค่าทางเภสัชจลนศาตร์ของยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์นั้นอยู่ในระดับรักษา (therapeutic level) โดยระดับยาก่อนให้ยาครั้งถัดไป [trough concentration (C0)], ระดับยาสูงสุด [peak concentrations (Cmax)], ระดับยาต่ำสุด [minimum concentrations (Cmin)] และระดับยาเฉลี่ย [average concentrations (Cave)] ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มนั้นใกล้เคียงกัน ค่าเฉลี่ยของ C0 ของยาโลพินาเวียร์ในผู้ป่วยที่ได้ยาไรฟาบูติน 150 มก. วันละครั้งและ 300 มก.สามครั้งต่อสัปดาห์เป็น 8.709 เทียบกับ 10.473 มคก./มล., ค่าเฉลี่ย Cmax เป็น 13.455 เทียบกับ 14.027มคก./มล., ค่าเฉลี่ย Cmin เป็น 5.287 เทียบกับ 4.155 มคก./มล.และค่าเฉลี่ย Cave เป็น 9.695 เทียบกับ10.252 มคก./มล. พบการอักเสบของยูเวีย (Uveitis) ในผู้ป่วย 2 รายโดยทั้งคู่ได้รับไรฟาบูติน 300 มก. สามครั้งต่อสัปดาห์ สรุปผล: การศึกษานี่เสนอว่ายาไรฟาบูตินขนาด 150 มก. วันละครั้งควรเป็นขนาดที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยชาวไทยเมื่อต้องใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ นอกจากนี้ยังพบว่ายาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ขนาด400/100 มก. วันละสองครั้งสามารถให้ระดับยาในเลือดที่เพียงพอเมื่อให้ร่วมกับยาไรฟาบูตินทั้งสองขนาด