Abstract:
รายงานฉบับนี้เป็นรายงานประจำปีของโครงการ “การหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ และกากจากอุตสาหกรรมแร่เชื้อเพลิง แร่หินอุตสาหกรรม แร่หนัก และกากจากการบำบัดน้ำประปา” สำหรับปีงบประมาณ 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ (NORM) ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ และกากที่ได้จากกระบวนการในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมในแง่ของความปลอดภัย และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการออกข้อกำหนดด้านความปลอดภัยจากรังสี การศึกษาในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมามีผลการศึกษาดังนี้ 1.การหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติในเครื่องมือ และกากจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่เป้าหมายที่แหล่งผลิตน้ำมันบนบก การวัดรังสีและการเก็บตัวอย่างทั้งหมดจากพื้นที่เดียวกัน ได้ทำซ้ำ 3 ครั้ง เพื่อดูความแปรปรวนเนื่องจากฤดูกาลและกิจกรรม การตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีแกรมมาจากผิวดินแบบเดินสำรวจและการตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีแกมมาโดยตรงจากอุปกรณ์/เครื่องจักร พบว่าในทุกพื้นที่การผลิตที่ทำการตรวจวัดมีค่าต่ำกว่าค่าปริมาณรังสีเฉลี่ยที่วัดได้นอกพื้นที่การผลิตของแต่ละพื้นที่ และค่าที่วัดได้ในแต่ละพื้นที่การผลิตยังคงต่ำกว่าค่าอัตราปริมาณรังสีที่ทางคณะสำรวจกำหนดไว้ให้เป็น Action Level คือ 50 UR/Hr นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวิเคราะห์นิวไคลด์ที่ปลดปล่อยรังสีแกมมาในบางจุดที่เหมาะสม โดยใช้หัววัดรังสีแกมมาแบบเจอร์มาเนียมบริสุทธิ์สูงที่มีความสามารถในการแยกพลังงานดีเยี่ยม ซึ่งก็พบว่าอัตราปริมาณรังสีแกมมาของนิวไคลด์กัมมันตรังสีที่ตรวจวัดได้มีค่าอัตราปริมาณรังสีแกมมาต่ำกว่าอัตราปริมาณรังสีแกมมาที่วัดได้นอกพื้นที่การผลิตมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าบริเวณผิวดิน และอุปกรณ์/เครื่องจักร ของแต่ละพื้นที่การผลิตนั้นมิได้อยู่ในเกณฑ์ที่มีการสะสมของ NORM สำหรับปริมาณความเข้มข้นกัมมันตภาพของ NORM ในตัวอย่างดิน, น้ำ และกากจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในเกือบทุกตัวอย่างมีปริมาณความเข้มข้นกัมมันตภาพของ NORM อยู่ในช่วงเดียวกับปริมาณความเข้มข้นกัมมันตภาพตามธรรมชาติที่พบอยู่ในดินทั่วไป ยกเว้น produced water ซึ่งเป็นน้ำจากระบวนการผลิตนั้นมีปริมาณเรเดียม-226 สูงกว่าเกณฑ์ 5 pCi/L แต่ produced water ดังกล่าวไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งออกสู่สาธารณะ แต่อัดกลับลงไปในหลุมน้ำมันเก่าที่เลิกใช้แล้ว จึงไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม 2.การหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติในกากจากการผลิตน้ำประปา สำหรับการหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ ในกากจากการผลิตน้ำประปานี้ ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น โดยจะมีการเก็บตัวอย่างหลายตัวอย่างจากสำนักงานประปาในภูมิภาคแล้วทำการวิเคราะห์ ซึ่งผลการวิเคราะห์จะรวบรวมไว้ในรายงานครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามได้ทำการเก็บและเตรียมตัวอย่างกากตะกอนบางตัวอย่างไว้แล้ว โดยจะได้ทำการวิเคราะห์เมื่อเกิดการสมดุลทางกัมมันตรังสี 3.การหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติจากอุตสาหกรรมแร่หนัก การหาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติจากอุตสาหกรรมแร่หนักในปีงบประมาณ 2547 มีภาคเอกชนสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ 2 บริษัท คือ บริษัทผลิตแร่เซอร์คอน และบริษัทผลิตแร่แทนทาลัม ซึ่งผลจากการวิเคราะห์เรเดียม-226 และเรเดียม-228 ด้วยเทคนิคแกมมา ด้วยเทคนิคแกมมาสเปกโตรมิตรี พบว่า ตัวอย่างวัตถุดิบของอุตสาหกรรมผลิตแร่เซอร์คอนมีปริมาณเรเดียม-228 (227.71±7.16 pCi/g) สูงกว่า เรเดียม-226 (67.08±2.56 pCi/g) มาก และผลการวิเคราะห์ของผลิตภัณฑ์พบว่าเรเดียม-228 ในแหล่งแร่วัตถุดิบถูกสกัดไปอยู่ใน monazite และ Leucoxene มากกว่าเรเดียม-226 ซึ่งถูกสกัดไปสะสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ Rutile, Zircon และ Tailing สำหรับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างตะกรันของบริษัทผลิตแร่แทนทาลัม พบว่า ในตัวอย่างตคะกรันนั้นมีปริมาณความเข้มข้นของเรเดียม-228 และเรเดียม-226 อยู่ในช่วง 2380.32-9093.85 pCi/g และ 5262.49-188897.29 pCi/g ตามลำดับ