Abstract:
ไฟโตเอสโตรเจน เช่น เจนิสเตอีนและไดด์ดีซีน เป็นสารที่สามารถพบได้ในพืชตระกูลถั่ว ทั้งนี้สารดังกล่าวมีลักษณะโครงสร้างคล้ายเอสโตรเจน ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าภาวะวิตกกังวลเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจากรายงานทางคลินิกและการทดลองในสัตว์ พบว่าการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นปัจจัยที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นมีข้อจำกัดในทางคลินิก ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ เจนิสเตอีน และไดด์ดีซีน ในการลดความกังวลในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความกังวลด้วยการตัดรังไข่เปรียบเทียบกับเอสโตรเจน และเพื่อศึกษาผลของสารดังกล่าวในการเปลี่ยนแปลงระดับความกังวลในหนูเพศผู้ โดยการทดลองแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ทำการศึกษาในหนูเพศเมียโดยการเหนี่ยวนำให้ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยการตัดรังไข่ หาระยะเวลาที่ทำให้หนูเกิดความกังวล และจากนั้นศึกษาว่า เอสโตรเจน เจนิสเตอีน หรือไดด์ดีซีนสามารถแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า การตัดรังไข่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์สามารถเหนี่ยวนำให้หนูเกิดความกังวล เมื่อทำการวัดด้วยอุปกรณ์ทดสอบพฤติกรรม elevated T-maze ทั้งนี้หนูที่ตัดรังไขและได้รับเอสโตรเจนทดแทนที่ระยะเวลาต่าง ๆ (7, 14, 21 และ 28 วัน) ไม่พบว่ามีความกังวลแตกต่างกัน เมื่อทำการทดสอบผลของเจนิสเตอีน (0.25 มก./กก.) และไดด์ดีซีน (0.25 มก./กก.) เทียบกับเอสโตรเจน (1 ไมโครกรัม/กก.) ในการลดความกังวลในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความกังวล โดยการให้สารต่าง ๆ เป็นเวลา 28 วัน ภายหลังจากการตัดรังไข่ 21 วัน พบว่าเจนิสเตอีนสามารถระดับความกังวลได้ไม่ต่างจากเอสโตรเจน ในขณะที่ไดด์ดีซีนสามารถลดความกังวลได้ไมต่างจากเจนิสเตอีนและเอสโตรเจน แต่พบว่าค่าความแตกต่างไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความแตกต่างทางสถิติจากกลุ่มควบคุม โดยเจนิสเตอีนหรือไดด์ดีซีนไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว หรือน้ำหนักมดลูกเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ตอนที่ 2 ทำการศึกษาถึงผลของเจนิสเตอีนหรือไดด์ดีซีนที่มีต่อระดับความกังวลในหนูเพศผู้พบว่าการให้เจนิสเตอีน ขนาด 1 มก./กก. เป็นเวลา 5 สัปดาห์ มีแนวโน้มที่จะทำให้หนูมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น และทำให้น้ำหนักของหนูเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการได้รับเจนิสเตอีนขนาด 0, 0.25 และ 0.50 มก./กก. โดยเจนิสเตอีนขนาดต่าง ๆ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ อัณฑะ อิพิดิไดมิส พรอสเตทแกลนด์ และเซมินอล เวสซิเคิล สำหรับผลของไดด์ดีซีนนั้นพบว่า การให้ไดด์ดีซีน ขนาด 0.25 มก./กก. เป็นเวลา 5 สัปดาห์ สามารถลดความกังวลในหนูกลุ่มนี้ได้ และถ้าให้ในขนาดที่สูงขึ้น (0.50-1.00 มก./กก.) จะเป็นการเพิ่มระดับความกังวล ทั้งนี้ไดด์ดีซีนไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว หรือน้ำหนักอวัยวะสืบพันธุ์ แต่มีแนวโน้มว่าการใช้ไดด์ดีซีนในระดับสูง (1.00 มก./กก.) อาจมีผลต่อการทำงานของพรอสเตทแกลนด์ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักลดลง จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าการตัดรังไข่ทิ้งไว้เป็นเวลา 3 สัปดาห์ทำให้หนูเกิดความกังวลขึ้นได้ โดยเจนิสเตอีนสามารถแก้ไขความกังวลที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้เมื่อให้ติดต่อกันเป็นเวลา อย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยไม่มีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์ ในขณะที่การให้ไดด์ดีซีนนั้นอาจจะต้องให้เป็นระยะเวลาที่นานขึ้น หรือให้ในระดับที่สูงขึ้น สำหรับในเพศผู้นั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าสารดังกล่าวมีผลต่อความกังวลที่แตกต่างกันโดยเจนิสเตอีนในระดับสูงทำให้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ไดด์ดิซินในระดับต่ำสามารถลดความกังวลได้ จึงเป็นที่น่าสนใจเจนิสเตอิน หรือไดด์ดิซีนอาจมีการทำงานที่แตกต่างกัน เนื่องจากความสามารถในการจับกับตัวรับเอสโตรเจนแตกต่างกัน และการให้ในหนูเพศผู้ปกตินั้นเจนิสเตอีนอาจไปมีผลรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน และ/หรือเทสโทสเตอโรน และทำให้เกิดความกังวลขึ้นได้