Abstract:
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจจากการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึก ด้วยระเบียบวิธีวิจัยการวิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกในชุดคำถามกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมวิจัยคือผู้เคยมีประสบการณ์การเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึกตามเกณฑ์ได้แก่ เป็นการเขียนที่มีลักษณะของการสะท้อน สำรวจ ใคร่ครวญ เกี่ยวกับความคิดความรู้สึก เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และเยียวยาตนเอง และเป็นการเขียนระหว่างที่ได้รับการบำบัดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา จำนวน 6 ราย มีอายุระหว่าง 23-36 ปี ผลการวิจัยแบ่งได้เป็น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) องค์ประกอบที่ชักนำให้สนใจการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึก ประกอบด้วย ความคุ้นเคยกับการเขียนการอ่านและการจดบันทึก การขาด ‘พื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึก’ หล่อหลอมให้แสวงหาพื้นที่แสดงออก และ การกระตุ้นที่นำไปสู่การมองหาหนทางเยียวยา 2) ช่องทางและเวลาในการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึก ประกอบด้วย เลือกใช้ช่องทางการเขียนที่ตนเองถนัดและตอบโจทย์ความต้องการ เขียนในพื้นที่และเวลาที่ให้บรรยากาศความเป็นส่วนตัว ใช้เวลากับการเขียนอย่างยืดหยุ่นตามระดับความต้องการภายใน 3) รูปแบบวิธีการเขียนและกระบวนการที่ดำเนินไประหว่างการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึก ประกอบด้วย บอกเล่าเรื่องราวตามวิถีธรรมชาติของตนเอง เกิดกระบวนการสำรวจ กลั่นกรอง ใคร่ครวญ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวและตนเอง และเกิดความตระหนักรู้จากการ ‘ค้นพบ’ และ ‘มองเห็น’ โลกภายในตนเองได้แจ่มชัด) 4) ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึก ประกอบด้วยผลที่สังเกตได้หลังการลงมือเขียนแต่ละครั้ง และผลเมื่อทำซ้ำจนตกผลึกภายในตนเอง ผลที่สังเกตได้หลังการลงมือเขียนแต่ละครั้ง ได้แก่ ความปลอดโปร่งจากความทุกข์และความอึดอัดที่คลี่คลายลงไป เกิดความตระหนักและยอมรับความรู้สึกตนเองโดยไม่ตัดสิน เกิดความเข้าใจในความเป็นตนเองบนพื้นฐานประสบการณ์ส่วนตัว ตั้งสติและมองเห็นหนทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมแก่ตนเองได้ และรู้สึกอิ่มเอมจากการได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผลเมื่อทำซ้ำจนตกผลึกภายในตนเอง ได้แก่ เกิดสัมพันธภาพและการสื่อสารภายในตนที่มีคุณภาพ เรียบเรียงความคิดความรู้สึกเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้างได้ดีขึ้น รับรู้ถึงอำนาจและพลังการยืนยันภายในตนเอง เห็นความเชื่อมโยงภายในตนจากอดีตสู่ปัจจุบันและรับรู้ศักยภาพในการกำกับดูแลตนเอง และ กลับสู่ความเป็นตัวเองที่แท้ รู้สึกเติมเต็มภายในตนและเข้าใจธรรมชาติชีวิต 5) การรับรู้ประโยชน์ของการเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึกและการนำไปใช้ ประกอบด้วย เป็นพื้นที่ประคับประคองเยียวยาและทำความเข้าใจตนเองที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว เป็นเครื่องมือสื่อสารทดแทนในเรื่องที่ยากหรือลำบากใจจะเอ่ย และ ต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์ที่ใช้วัตถุดิบภายในตน งานวิจัยนี้ช่วยเติมเต็มความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์การเขียนสะท้อนความคิดความรู้สึกในคนไทยว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการสำรวจและตระหนักรู้ภายในตนเองได้ ผู้สนใจสามารถนำมาใช้ดูแลตนเองเบื้องต้น และนักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถนำเครื่องมือนี้มาใช้ประกอบการให้คำปรึกษาเพื่อผลลัพธ์การทำงานร่วมกับผู้รับบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น