Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การจัดการความเครียดจากการทำงานของนักเขียน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยคุณภาพแนววิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยาแบบตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) เก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นนักเขียนที่มีประสบการณ์การทำงานเกิน 5 ปี จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทโทรทัศน์ และนักเขียนการ์ตูน ประเภทละ 3 ราย ผลการวิจัยพบ 2 ประเด็นหลักคือ สาเหตุของความเครียดและการจัดการความเครียดจากการทำงานของนักเขียน ประเด็นสาเหตุของความเครียด พบ 4 ประเด็นรอง ได้แก่ 1) การผูกตัวตนเข้ากับงาน ประกอบด้วย การถูกวิจารณ์และการถูกเกลียด ความต้องการเขียนงานที่เป็นตัวเอง และความคิดว่า “ฉันห่วยแตก ฉันไร้ค่า” 2) ความรู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ ประกอบด้วย การเขียนไม่ออก การทำนายยอดขายไม่ได้ และความไม่แน่นอนของการจ้างงาน 3) การทำงานหนัก ประกอบด้วย ความยากในการจัดการเวลา การใช้อารมณ์ความรู้สึกในการทำงาน และปัญหาสุขภาพจากการทำงานหนัก 4) การขาดโอกาสในการเติบโตทางอาชีพ ประกอบด้วย รัฐบาลไม่สนับสนุน ค่าตอบแทนที่จำกัด และการถูกเอาเปรียบ ประเด็นการจัดการความเครียด พบ 4 ประเด็นรอง ประกอบด้วย 1) การบริหารการเงิน ประกอบด้วย การทำงานเสริม และการเตรียมเงินสำรอง 2) การบริหารจัดการเวลา 3) การจัดการอารมณ์ด้านลบ ประกอบด้วย การเบี่ยงเบนความสนใจ การระบายให้คนรอบข้างฟัง การให้กำลังใจตนเอง การเขียนเพื่อการเยียวยา และการศึกษาจิตวิทยา 4) ทัศนคติที่เปลี่ยนไป ประกอบด้วย การอยู่ร่วมกับความเกลียดชัง การปล่อยวางอุดมคติ และการลดความคาดหวังด้านยอดขาย ผู้วิจัยได้อภิปรายผลวิจัยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว การวิจัยนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประสบการณ์การเผชิญความเครียดและการจัดการความเครียดจากการทำงานของนักเขียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศาสตร์การให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อไป