Abstract:
การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลมีการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยผ่านการพูดคุยสื่อสารเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือในลักษณะต่าง ๆ การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยานี้ได้รับอิทธิพลจากทั้งปัจจัยภายในตนเองเช่นมุมมองและเจตคติที่บุคคลมีต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา และปัจจัยภายนอกเช่นมุมมองจากบุคคลใกล้ชิดหรือสังคม อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยไม่มากนักที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตราบาปเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ ความเมตตากรุณาต่อตนเอง และเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างตราบาปเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ ความเมตตากรุณาต่อตนเอง ในการร่วมกันทำนายเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 221 คน มีอายุเฉลี่ย 20.29 ปี (SD = 1.59) ผลการวิจัยพบว่า 1) ตราบาปจากสังคมมีสหสัมพันธ์ทางลบต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา 2) ตราบาปจากบุคคลใกล้ชิดมีสหสัมพันธ์ทางลบต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา 3) ตราบาปจากตนเองมีสหสัมพันธ์ทางบวกต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา 4) ความเมตตากรุณาต่อตนเองมีสหสัมพันธ์ทางบวกต่อเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยา และ 5) ตราบาปจากสังคม ตราบาปจากบุคคลใกล้ชิด ตราบาปจากตนเอง และความเมตตากรุณาต่อตนเอง สามารถร่วมกันทำนายระดับเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ adjusted R2 = .449 ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ องค์ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปประกอบการออกแบบ วางแผนกระบวนการเพื่อส่งเสริมเจตคติต่อการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาในกลุ่มนิสิตนักศึกษาต่อไป