Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยา วัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับตนเองของผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ให้ข้อมูลหลัก ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง อายุระหว่าง 63 ปี ถึง 79 ปี จำนวน 6 คน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกใช้คำถามสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ผลการศึกษาพบประสบการณ์การยอมรับตนเอง 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ ประเด็นที่ 1 กาย-ใจเปราะบางจากสุขภาพที่เสื่อมถอยและภาวะพึ่งพิง ครอบคลุม 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ การตระหนักในสภาพร่างกายที่เสื่อมถอย การที่ต้องใช้ชีวิตอย่างระแวดระวัง พึ่งตัวเองได้น้อยลง ความรู้สึกรู้สึกอึดอัดใจ กังวลใจ ท้อแท้ใจ เมื่อทำสิ่งที่เคยทำไม่ได้ และความรู้สึกเกรงใจ ที่เป็นภาระผู้อื่น ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์และหลักยึดทางใจช่วยให้ทำใจเมื่อต้องพึ่งพิงผู้อื่น ครอบคลุม 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ ความรักและความห่วงใยของคนรอบข้าง และการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาและมีหลักยึดเหนี่ยวทางใจ และประเด็นที่ 3 ยอมรับ ปรับการใช้ชีวิต และเปิดใจต้อนรับการเปลี่ยนแปลง ครอบคลุม 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ ยอมรับและปรับการใช้ชีวิต และเปิดใจต้อนรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าวสามารถนำมาเป็นฐานในการเข้าใจประสบการณ์ของผู้รับบริการที่เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดการศึกษาการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัวต่อไป