Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความเชื่อทางจรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตในประเทศไทยจำแนกตามเพศ ช่วงวัย อาชีพ และประเภทชุมชนที่ปฏิบัติงาน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิต ผู้มีหน้าที่ในการดูแลหรือรักษาบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม โดยใช้กระบวนการจิตบำบัดหรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 160 คน อายุเฉลี่ย 35.5 ปี (SD = 9.54 ปี) เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย คือ แบบสอบถามความเชื่อทางจรรยาบรรณของผู้ให้บริการทางสุขภาพที่พัฒนาจากการศึกษาก่อนหน้า จำนวน 78 ข้อ นำผลที่ได้มาหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีการของ Cronbach’s Alpha ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณพบว่า ค่าความเที่ยง = .96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่ามี 12 ข้อที่ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตเชื่อว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณอย่างแน่นอน มี 1 ข้อที่ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตเชื่อว่าเป็นพฤติกรรมที่ถูกจรรยาบรรณอย่างแน่นอน และมี 9 ข้อเป็นพฤติกรรมที่ผู้ให้รับบริการทางสุขภาพจิตส่วนใหญ่ตอบว่าไม่รู้หรือไม่แน่ใจ และผลการวิเคราะห์ความแตกต่างพบว่าผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตที่มีเพศ อาชีพ และประเภทชุมชนที่ปฏิบัติงานแตกต่างกันมีความเชื่อทางจรรยาบรรณโดยรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ผู้ให้บริการทางสุขภาพจิตที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน มีความเชื่อทางจรรยาบรรณโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05