Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟ (active) และความสุขเชิงอัตวิสัย และสำรวจการเห็นคุณค่าในตนเองในฐานะตัวแปรส่งผ่าน โดยมีการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมจากผู้ใช้งานอื่นในเครือข่ายมาเป็นตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้เป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ18-22 ปี จำนวน 207 คน แบ่งเป็นเพศชาย 43 คน และเพศหญิง 164 คน โดยที่กลุ่มตัวอย่างต้องมีการใช้งานทวิตเตอร์ในลักษณะที่มีการปฏิสัมพันธ์ มีส่วนร่วมในกิจกรรมกับชุมชนและเครือข่ายของตนเอง และมีการทวีตข้อความลงในทวิตเตอร์ของตนเอง ภายใน 1 เดือนก่อนการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ถดถอย โมเดลการกำกับอิทธิพลการส่งผ่าน (moderated mediation model) ในการทดสอบสมมติฐานการวิจัย ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า พฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม (r = .62, p < .01) และความสุขเชิงอัตวิสัย (r = .20, p < .01) อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่มีความสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเอง (r = .10, p > .05) ไม่แตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการทดสอบสมมติฐานพบว่า พฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟไม่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (b = -.02, p > .05) ซึ่งไม่พบอิทธิพลของการเห็นคุณค่าในตนเองในฐานะตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟและความสุขเชิงอัตวิสัย และไม่พบอิทธิพลของการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟและการเห็นคุณค่าในตนเอง (b= .02, p > .05) ในขณะที่พบอิทธิพลของการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการใช้งานทวิตเตอร์แบบแอคทีฟและความสุขเชิงอัตวิสัย (b = .07, p < .05) ซึ่งโมเดลการกำกับ สามารถทำนายความแปรปรวนของความสุขเชิงอัตวิสัยได้ร้อยละ 62 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (R2 = .62, F(7, 199) = 64.29, p < .01)