Abstract:
แม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นปรากฏการณ์การให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเอง ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลอ้างอิงคุณงามความดีในอดีตเพื่อกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมได้ แต่งานวิจัยใดที่ศึกษากลไกทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวยังมีน้อย งานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาพฤติกรรมการให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเอง และเปรียบเทียบว่าระหว่างแบบจำลองเครดิตทางศีลธรรมและการรับรองทางศีลธรรม กลไกใดที่ช่วยอธิบายการเกิดพฤติกรรมการให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเองได้ดีกว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 177 คน ที่ร่วมทำแบบสอบถามออนไลน์ โดยถูกสุ่มเข้าสู่เงื่อนไขที่ได้รับการเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรม หรือ เงื่อนไขควบคุม แล้วตอบมาตรวัดภาพลักษณ์ทางศีลธรรมส่วนตน จากนั้นได้เล่นเกมสุ่มเลขเพื่อรับรางวัลซึ่งมีโอกาสโกงได้ โดยสุ่มผู้เข้าร่วมการทดลอง ครึ่งหนึ่งเข้าสู่สถานการณ์ที่คลุมเครือ ซึ่งไม่มีการย้ำเตือนกติกาการเล่นเกม อีกครึ่งหนึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คลุมเครือซึ่งมีการย้ำเตือนกติกาการเล่นเกมอย่างชัดเจน แล้วบันทึกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองเล่นเกมเกินที่กติกากำหนดไปกี่ครั้ง จากนั้นตอบมาตรภาพลักษณ์ทางศีลธรรมส่วนตนที่แทรกอยู่ในแบบประเมินอีกชุดหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง
ผลการวิเคราะห์สมมุติฐานที่ 1 ด้วย independent sample t-test พบว่า กลุ่มที่ได้รับการเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรมมีแนวโน้มที่จะโกงน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่ความแตกต่างที่พบไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นจึงไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนปรากฏการณ์ให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเอง ส่วนการทดสอบสมมุติฐานที่ 2 พบว่าอิทธิพลทางทางอ้อมของการเหนี่ยวนำความทรงจำทางศีลธรรมส่งผ่านของภาพลักษณ์ทางศีลธรรมส่วนตนไม่มีนัยสำคัญ พบเพียงว่าการเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรมกระตุ้นให้บุคคลมีภาพลักษณ์ทางศีลธรรมส่วนตนที่สูงขึ้น แต่ระดับภาพลักษณ์ทางศีลธรรมไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมโกง ส่วนการวิเคราะห์สมมุติฐานที่ 3 พบว่าความคลุมเครือของสถานการณ์ไม่มีอิทธิพลกำกับอิทธิพลทางอ้อมของการเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรมที่ส่งผ่านภาพลักษณ์ทางศีลธรรมส่วนตนไปยังพฤติกรรมโกง นอกจากนี้ เพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ 4 กลไกที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเองเป็นไปตามแบบจำลองเครดิตทางศีลธรรมหรือแบบจำลองการรับรองทางศีลธรรม ผู้วิจัยนำข้อมูลเฉพาะผู้ที่แสดงพฤติกรรมโกงไปทดสอบความแปรปรวนสามทาง ระหว่าง 2(การเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรม) x 2(ความคลุมเครือของสถานการณ์) และ 2(ช่วงเวลาที่วัดภาพลักษณ์ทางศีลธรรม) ผลพบว่าโดยรวมคะแนนภาพลักษณ์ทางศีลธรรมลดลงหลังจากการโกงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ตัวใดมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์อิทธิพลหลักย่อยพบว่า มีเพียงเงื่อนไขที่มีการเหนี่ยวนำความทรงจำศีลธรรมเท่านั้นที่คะแนนภาพลักษณ์ทางศีลธรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครือหรือไม่ แม้จะไม่พบหลักฐานพฤติกรรมการให้สิทธิพิเศษทางศีลธรรมแก่ตนเอง แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ตัวตนทางศีลธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถูกเหนี่ยวนำให้นึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับพฤติกรรมศีลธรรม และการเหนี่ยวนำความทรงจำเกี่ยวกับพฤติกรรมศีลธรรมอาจทำให้บุคคลทำพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมน้อยลง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการออกแบบสถานการณ์หรือการแทรกแซงที่ช่วยลดพฤติกรรมโกงได้