Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาบรรยายเชิงเปรียบเทียบเพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 320 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจากผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตติยภูมิ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 โรงพยาบาล เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 2 ส่วน คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามภาพลักษณ์ ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ของแบบสอบถามภาพลักษณ์ได้เท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบทีและสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาพลักษณ์ก่อนการผ่าตัดทำทางบี่ยงหลอดเลือดหัวใจอยู่ในระดับดีมาก โดยค่าเฉลี่ยคะแนนภาพลักษณ์เท่ากับ 13.10 ± 4.14 คะแนน
2. ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีภาพลักษณ์หลังการผ่าตัดทำทางบี่ยงหลอดเลือดหัวใจอยู่ในระดับดี โดยค่าเฉลี่ยคะแนนภาพลักษณ์เท่ากับ 19.49 ± 6.61 คะแนน
3. เมื่อเปรียบเทียบภาพลักษณ์ก่อนและหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ พบว่า ภาพลักษณ์ก่อนและหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (t = -24.16, df = 319, p = 0.00)
4. เมื่อพิจารณา 7 ตัวแปร ได้แก่ ตัวแปรเพศ อายุ อาชีพ โรคร่วม ดัชนีมวลกาย สถานภาพสมรสและระดับการศึกษา พบว่าภาพลักษณ์ก่อนและหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (F = 544.484, F = 136.410, F = 199.973, F = 183.928, F = 165.042, F = 391.982, F = 361.773 ตามลำดับ)