Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบโอกาสการพบโปรตีนในปัสสาวะของผู้ป่วยเด็กวัยเรียนกลุ่มอาการเนโฟรติกภายหลังได้รับการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนในการปฏิบัติพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมและการพยาบาลตามปกติ ระยะหลังการทดลองทันที ระยะหลังการทดลอง 1 วัน และระยะหลังการทดลอง 2 วัน โดยการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนนี้พัฒนามาจากทฤษฎีสมรรถนะแห่งตนของ Bandura (2001) กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี กลุ่มอาการเนโฟรติกที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คนโดยจับคู่การใช้ยาสเตียรอยด์และยาควบคุมความดันโลหิตแล้วสุ่มเข้ากลุ่มโดยจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ การพยาบาลเพื่อส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนในการปฏิบัติพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม แถบทดสอบปัสสาวะ และแบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กกลุ่มอาการเนโฟรติก ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และค่าความเที่ยงเท่ากับ 1.00 และ 0.80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติคทวิ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยเด็กกลุ่มอาการเนโฟรติกที่ได้รับการพยาบาลเพื่อส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนในการปฏิบัติพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมมีโอกาสตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะในระยะหลังการทดลอง 2 วัน น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติร้อยละ 92.00 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05