Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ศึกษาสองกลุ่มแบบวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ 1) พฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่ 2) พฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่กับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 42 ครอบครัว แต่ละครอบครัวประกอบด้วยบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนซึ่งเข้ารับบริการที่คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และผู้ดูแลหลักในครอบครัว ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จับคู่บุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนให้มีอายุและระดับของพฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำที่ใกล้เคียงกันแล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 21 ครอบครัว กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือวิจัย คือ 1) โปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่ 2) แบบสอบถามพฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชน 3) แบบประเมินความสามารถในการจัดการตนเองของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชน และ 4) แบบประเมินความสามารถในการจัดการตนเองและผู้ป่วยของผู้ดูแล เครื่องมือทุกชุดได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน โดยชุดที่ 2, 3 และ 4 มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค .87, .81 และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. พฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนหลังได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=12.67, p< .05)
2. พฤติกรรมป้องกันการป่วยซ้ำของบุคคลที่เป็นจิตเภทในชุมชนที่ได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามวิถีใหม่สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=9.38, p< .05)