Abstract:
การวิจัยเชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง และศึกษาปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ที่มารับการรักษาที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ในสถาบันประสาทวิทยา และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 120 คน เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินคุณภาพชีวิต แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบประเมินภาระการดูแล แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินสัมพันธภาพในครอบครัว และแบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม โดยเครื่องมือมีคุณภาพทั้งความตรงตามเนื้อหาและความเที่ยง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สัมประสิทธิ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคุณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า
ผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมีคุณภาพชีวิตปานกลาง ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 95.89 (S.D. = 11.48) ปัจจัยที่ทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม (β = .34, <.001) ภาวะซึมเศร้า (β = -.47, p <.001) และ ความสามารถในการทำกิจวัตร ประจำวันของผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (β = .33, p =.005) สามารถร่วมกันทำนาย คุณภาพชีวิตของผู้ดูแลในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้ร้อยละ 33 โดยการสนับสนุนทางสังคมถือเป็นปัจจัยหลักในการทำนายคุณภาพชีวิตผู้ดูแลในครอบครัว