Abstract:
การวิจัยติดตามย้อนหลังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอกในผู้ป่วยหลังทำผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ อายุ เพศ ภาวะอ้วน ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะซีด ภาวะโรคร่วม ทัศนคติในการดูแลแผลผ่าตัด อัตราการกรองของไต การบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด และประเภทการผ่าตัด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยหลังทำผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและหญิง ได้รับการผ่าตัดระยะตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 81 คน คือ กลุ่มศึกษา หมายถึง กลุ่มผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอก จำนวน 27 คน และ กลุ่มควบคุม หมายถึง กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่พบการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอก จำนวน 54 คน ณ โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ในกรุงเทพมหานคร เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบบันทึกปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอก 3) แบบประเมินทัศนคติในการดูแลแผลผ่าตัด และ 4) แบบประเมินการวินิจฉัยการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอก เครื่องมือผ่านการตรวจสอบ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.86 และค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติถดถอยแบบพหุลอจิสติก ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อแผลผ่าตัดกลางหน้าอกในผู้ป่วยหลังทำผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อัตราการกรองของไต Thai eGFR < 60 ml/min (aOR 3.29 [95 % CI 1.22-8.89], p = 0.02) และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด HbA1C ≥ 6.5 % (aOR 2.96 [95 % CI 1.08-8.12] , p = 0.04)