Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาอัตราการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน และเพื่อศึกษาปัจจัยทำนายภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน ได้แก่ ภาวะการรู้คิดบกพร่อง ประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ระยะเวลาการเข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน ความปวด ภาวะเลือดออกในสมอง และภาวะซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉินและอุบัติเหตุโรงพยาบาลของรัฐระดับตติยภูมิ จำนวน 3 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 220 คน โดยการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลัน แบบคัดกรองภาวะสมองเสื่อม แบบประเมินความปวด โดยใช้มาตรวัดแบบตัวเลข และในกรณีผู้สูงอายุที่ไม่สามารถบอกระดับความเจ็บปวดได้ ใช้แบบประเมินความเจ็บปวดสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ผ่านการตรวจสอบการหาค่าความเที่ยง โดยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค มีความเที่ยงเท่ากับ .83 และ .79 ตามลำดับ และหาค่าความเที่ยงของแบบประเมินที่ใช้ในการวิจัยโดยวิธีการวัดซ้ำ มีค่าความเที่ยงเท่ากับ .77 และ .97 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติไคสแคว์ (Chi-square) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล (Point biserial correlation coefficient) และ สถิติถดถอยโลจิสติกทวิ (binary logistic regression)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน มีภาวะสับสนเฉียบพลัน จำนวน 34 คน จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 220 คน คิดเป็นร้อยละ 15.45
2. ภาวะการรู้คิดบกพร่อง ประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ระยะเวลาการเข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน ระดับความปวด ภาวะเลือดออกในสมอง และภาวะซึมเศร้า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (X2= 9.277, 10.020, rpb= .216, X2= 9.000, 9.568, 3.874 ตามลำดับ)
3. ตัวแปรที่สามารถร่วมกันทำนายภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉินได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ ภาวะการรู้คิดบกพร่อง (AOR=7.25, 95% CI : 1.681-31.276) ประวัติโรคหลอดเลือดสมอง (AOR=4.74, 95% CI : 1.540-14.579) ระยะเวลาการเข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉิน (AOR=6.67, 95% CI : 2.300-19.337) ภาวะเลือดออกในสมอง (AOR=14.72, 95% CI : 2.637-82.151) และภาวะซึมเศร้า (AOR=6.96, 95% CI : 1.274-37.998) โดยมีอำนาจการทำนายร้อยละ 37 (Nagelkerke R2 = .370, p < .05)