Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทของการบรรเลงซออู้เพลงกราวในสำหรับการเดี่ยวและการแสดงโขนตอนขับพิเภก เพื่อศึกษากลวิธีการบรรเลงซออู้เพลงกราวในสำหรับการเดี่ยวและการแสดงโขน ตอนขับพิเภก ของครูสุริยะ ชิตท้วม โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า การบรรเลงเดี่ยวเพลงกราวในเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครูปี่พาทย์ประดิษฐ์ทางเดี่ยวเพลงกราวในขึ้นบรรเลงในอัตราจังหวะสามชั้น ภายหลังจึงเกิดเดี่ยวกราวในสำหรับเครื่องสาย ทางเดี่ยวซออู้เพลงกราวในของครูสุริยะ ชิตท้วมเป็นทางของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยะชีวิน) ที่ได้ถ่ายทอดให้แก่ครูวรยศ ศุขสายชลและครูธีระ ภู่มณีตามลำดับ กลวิธีการบรรเลงซออู้เดี่ยวกราวใน พบว่า ใช้กลุ่มเสียงปัญจมูลทั้งหมด 4 กลุ่มเสียง ได้แก่ ทางนอก ทางใน ทางกลางแหบ และทางชวา มีการบรรเลงลูกโยนเสียงทั้งหมด 6 เสียงในการประดิษฐ์ลูกโยน พบการใช้กลวิธีพิเศษจำนวน 14 กลวิธี ส่วนการบรรเลงเดี่ยวซออู้เพลงกราวในสำหรับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนขับพิเภก ของครูสุริยะ ชิตท้วม ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครูธีระ ภู่มณี บรรเลงเพียงโยนเดียว เสียงโด โดยใช้วิธีการโอด การครวญ และบรรเลงโดยไม่มีเครื่องกำกับจังหวะ จนกระทั่งพิเภกได้พบกับทหารของพระราม จากนั้นจึงจะบรรเลงด้วยทางเก็บและสิ้นสุดการบรรเลงเพลงกราวในเมื่อตัวลิงรำป้องหน้า พบการใช้กลวิธีที่ใช้จำนวน 12 กลวิธี