Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ไทยในรูปแบบกีฬาลีลาศฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ไทยในกีฬาลีลาศ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการค้นคว้าทางเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการทดลองสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ กีฬาลีลาศมีทั้งความเป็นศิลปะและเป็นกีฬาอยู่ในศาสตร์เดียวกัน ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลีลาศที่มีการนำนาฏยศิลป์ไทยมาใช้ในการออกแบบ ได้แก่ จังหวะตะลุง จึงได้ทำการทดลองสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ไทยในกีฬาลีลาศจำนวน 2 ประเภท โดยใช้การฟ้อนแบบนีโอล้านนาที่มีลักษณะการรำที่ช้าในจังหวะวอลซ์ เกิดขึ้นเป็น “ล้านนาวอลซ์” และ การเซิ้งทางภาคอีสานของไทยที่มีลักษณะการรำที่เร็วในจังหวะแซมบ้า เกิดขึ้นเป็น “ภูไทแซมบ้า กระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่ 1. แนวคิด 2. เพลงประกอบ 3. การออกแบบท่าเต้น 4. การออกแบบเครื่องแต่งกาย และ 5. การนำเสนอผลการสร้างสรรค์ ผลการศึกษาพบว่า แนวทางการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ไทยในกีฬาลีลาศคือ การใช้ลักษณะเด่นของนาฏยศิลป์ไทยได้แก่ การจีบ การตั้งวง และการกดเกลียวข้าง มาใช้กับส่วนบนของร่างกาย ส่วนการใช้เท้าและการใช้พื้นที่เป็นไปตามแบบลีลาศ ทั้งการฟ้อนแบบนีโอล้านนาและการเซิ้งทางภาคอีสานของไทย เหมาะสำหรับการออกแบบส่วนบนของร่างกาย การเต้นของวอลซ์และแซมบ้ามีลักษณะการใช้เท้าและขาเหมาะสำหรับการสร้างสรรค์ส่วนล่าง โดยผู้วิจัยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการนำนาฏยศิลป์ไทยมาออกแบบสร้างสรรค์ในรูปแบบกีฬาลีลาศ และยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก