Abstract:
ในการศึกษาและวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างแนวคิดว่าด้วยการจัดการทรัพยากรร่วม โดยมีชุมชนเป็นฐานกับพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และเพื่อศึกษาความสอดคล้องกันระหว่าง หลักการจัดการร่วมที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Co-Management) กับพระราชบัญญัติ ป่าชุมชน พ.ศ.2562 รวมทั้งเพื่อเสนอแนวทางการพัฒนากฎหมายป่าชุมชนเพื่อให้เกิดความ สอดคล้องกับหลักการจัดการร่วมที่มีชุมชนเป็นฐาน ทั้งนี้ การตราพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เป็นการสอดรับบทบัญญัติมาตรา 43 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องสิทธิของชุมชนในอันที่จะจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างสมดุลและยั่งยืน จากการศึกษาการจัดการทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในศึกษา กรณีพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 พบว่ามีประเด็นทางข้อกฎหมายดังต่อไปนี้
1) ประเด็นเรื่องสิทธิในจัดการทรัพยากรป่าไม้ในป่าชุมชน 2) ประเด็นเรื่องความหมายของป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 4 พื้นที่ที่จะนำไปจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้นั้น ต้องเป็นป่าที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ เป็นการให้อำนาจแก่กรมป่าไม้เข้ามาจัดการและควบคุมกำกับการจัดการป่าชุมชน 3) ประเด็นเรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ในการขออนุญาตเพื่อจัดตั้งป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 นั้น ชุมชนจะต้องมีการจัดเตรียมเอกสารมากมาย ตามมาตรา 33 รวมไปถึงการตรวจสอบจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่อย่างเข้มงวด และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดในการพิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชน แผนจัดการป่าชุมชน และรายงานผลการตรวจสอบซึ่ง แสดงให้เห็นถึงการตรวจสอบจากรัฐและยังคงไว้ซึ่งการรวมอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไว้ที่รัฐ ซึ่งขัดแย้งต่อการรับรองสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในมาตรา 43 (2) 4) ประเด็นเรื่องการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในป่าชุมชน ตามมาตรา 16 ผู้ที่มีอำนาจควบคุมกำกับการจัดการป่าชุมชนไม่ใช่ตัวแทนจากภาคประชาชนที่อยู่ภายในพื้นที่เขตป่าชุมชน แต่เป็นตัวแทนของรัฐจากส่วนกลาง ทำให้ขาดความใกล้ชิดกับสภาพปัญหา สภาพภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงวัฒนธรรมความเชื่อ ส่งผลให้ภาคประชาชนไม่ได้ร่วมมือร่วมใจกันในการจัดการควบคุมการใช้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจ (Decentralization) ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในมาตรา 16 (24) บัญญัติให้กระจายอำนาจให้ อบต.หรือเทศบาล มีอำนาจ จัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฎว่ามีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลาง ไม่มีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการป่าชุมชนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น
ผู้วิจัยจึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ตามประเด็นดังกล่าวต่อไป