Abstract:
ในโครงการก่อสร้างขนาดกลางและขนาดใหญ่ ผู้ว่าจ้างมักจะทำสัญญาจ้างผู้ควบคุมการก่อสร้างให้มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างของผู้รับจ้างก่อสร้างแทนผู้ว่าจ้าง ให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้าง ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนตามวัตถุประสงค์การใช้สอยของผู้ว่าจ้างและตามมาตรฐานและหลักการทางวิศวกรรม ดังนั้น ผู้ควบคุมการก่อสร้างจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง สัญญาว่าจ้างควบคุมการก่อสร้างที่ผู้ว่าจ้างทำกับผู้ควบคุมการก่อสร้างนั้นเข้าลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบและไม่จำต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญานั้นถูกกำหนดตามข้อสัญญา โดยกรณีผู้ว่าจ้างเป็นเอกชน คู่สัญญาสามารถกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดได้ตามความประสงค์ สำหรับกรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ คู่สัญญาจะต้องใช้ ‘แบบสัญญาจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง’ ตามประกาคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง แบบสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยทั่วไปแล้วสัญญาจ้างควบคุมการก่อสร้างที่คู่สัญญาตกลงกันตามความประสงค์และสัญญาจ้างออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างที่เป็นสัญญามาตรฐานที่หน่วยงานรัฐใช้นั้นมักไม่อาจกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ควบคุมการก่อสร้างได้ครอบคลุมได้ทุกกรณี ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ควบคุมการก่อสร้างต่อผู้ว่าจ้าง แม้ผู้ควบคุมการก่อสร้างจะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อผู้รับจ้างก่อสร้างและบุคคลภายนอกเนื่องจากไม่มีการทำสัญญาใด ๆ ต่อกัน แต่ด้วยลักษณะของการทำงานของผู้ควบคุมการก่อสร้างที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้รับจ้างก่อสร้าง การทำงานดังกล่าวจึงอาจก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ต่อผู้รับจ้างก่อสร้างและบุคคลภายนอกที่อาจเสียหายจากการก่อสร้างได้เช่นกัน งานวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาปัญหาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดระหว่าง 1) ผู้ควบคุมการก่อสร้างต่อผู้ว่าจ้าง
2) ผู้ควบคุมการก่อสร้างต่อผู้รับจ้างก่อสร้าง และ 3) ผู้ควบคุมการก่อสร้างต่อบุคคลภายนอก จากการศึกษาพบว่าควรกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของผู้ควบคุมการก่อสร้างภายใต้หลักวิชาชีพที่ชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจยังไม่ชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งควรแก้ไขข้อสัญญาแบบมาตรฐานของรัฐให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรวมถึงคู่สัญญารู้ถึงสิทธิ หน้าที่และความรับผิดได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีในอนาคต