Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางในการควบคุมดูแลกระบวนการโน้มน้าวในประเทศไทย สืบเนื่องจากความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของกระบวนการออกนโยบายสาธารณะของภาครัฐอาจถูกบิดเบือนไปโดยปราศจากการรับรู้ของสาธารณชนผ่านการโน้มน้าว ขณะที่กฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการโน้มน้าวที่ชัดเจน กรณีจึงจะมุ่งศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อนํามาวิเคราะห์เปรียบเทียบและเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวกับการโน้มน้าว
จากการศึกษาพบว่า มาตรการทางกฎหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวกับนักโน้มน้าวและการโน้มน้าว อาทิ ประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในส่วนความรับผิดอาญาว่าด้วยการให้สินบนเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่กำกับการจัดตั้งองค์กรและการรวมกลุ่มของเอกชนยังคงไม่ครอบคลุมธรรมชาติของกระบวนการโน้มน้าวและลักษณะของนักโน้มน้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ไม่มีการบัญญัตินิยามของนักโน้มน้าวหรือการโน้มน้าวอย่างชัดเจน ไม่มีการบัญญัติหน้าที่ตามกฎหมายให้นักโน้มน้าวดำเนินการ ไม่มีการกำหนดมาตรการบังคับและมาตรเสริมอื่นสำหรับนักโน้มน้าว รวมถึงไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนของมาตรการทางกฎหมายที่มุ่งหมายกำกับดูแลกระบวนการโน้มน้าวและขาดองค์กรในการกำกับดูแล
ด้วยเหตุนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนะให้มีการจัดทำมาตรการทางกฎหมายในรูปแบบของการตราพระราชบัญญัติขึ้นมาเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการโน้มน้าวภาครัฐขององค์กรธุรกิจเพื่อกำหนดบทนิยามของการโน้มน้าวและนักโน้มน้าว โดยมีบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ให้นักโน้มน้าวปฏิบัติตามเพื่อความโปร่งใสของกระบวนการโน้มน้าวและกำหนดมาตรการบังคับและมาตรการเสริมอื่นเพื่อเป็นกลไกในการบังคับและกำกับดูแลนักโน้มน้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมอบอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานอิสระกำกับดูแลกระบวนการโน้มน้าว ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะทั่วไปและหลักการทางกฎหมายของการโน้มน้าวและนักโน้มน้าว