Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาความไม่สม่ำเสมอของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการการลงทุนระหว่างประเทศในประเด็นว่าด้วยข้อต่อสู้ของรัฐเรื่องการกระทำของนักลงทุนต่างชาติที่ขัดต่อกฎหมายภายในของรัฐผู้รับการลงทุน รวมถึงศึกษาแนวคิด หลักการ และทฤษฏีทางกฎหมายที่มีผลต่อการพิจารณาและทำคำชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว จากหนังสือและบทความวิชาการต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการนำปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาและการทำคำชี้ขาดมาปรับใช้กับประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการการลงทุนระหว่างประเทศในประเด็นข้อต่อสู้ของรัฐเรื่องการกระทำของนักลงทุนต่างชาติที่ขัดต่อกฎหมายภายในของรัฐผู้รับการลงทุนมีความไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเพื่อเป็นการปฏิเสธที่จะให้ความคุ้มครองแก่การลงทุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการพิจารณาและการทำคำชี้ขาดคดีในประเด็นดังกล่าวนั้น ผู้เขียนเห็นว่าคณะอนุญาโตตุลาการการลงทุนระหว่างประเทศควรนำปัจจัยว่าด้วย ข้อกำหนดทางกฎหมาย ช่วงเวลาในการกระทำความผิด เนื้อหาและความรุนแรงของการกระทำ ความผิดของรัฐผู้รับการลงทุน และข้อยกเว้นอื่นๆ มาพิจารณาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามลำดับ อันจะเป็นการวางแนวทางในการตัดสินคดีเมื่อรัฐผู้รับการลงทุนยกข้อต่อสู้ว่าด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในของรัฐผู้รับการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่รัฐผู้รับการลงทุน นักลงทุนต่างชาติ คณะอนุญาโตตุลาการการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงวงการนิติศาสตร์ต่อไป