Abstract:
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 กำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร...” และมาตรา 258 (ง) (1) และ (2) กำหนดให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผลโดยให้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้าและปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม แต่ปัจจุบันยังมีกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนการตรวจสอบดุลพินิจคำสั่งไม่อุทธรณ์ ฎีกาของพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และ มาตรา 145/1 มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งในเรื่องการกำหนดองค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ และความล่าช้าในการตรวจสอบ ทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่เป็นไปตามหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจและยังกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของจำเลยในคดีโดยเฉพาะคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องแต่มีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา เพื่อรอระบวนการตรวจสอบดุลพินิจคำสั่งไม่อุทธรณ์ ฎีกาของพนักงานอัยการ ส่งผลให้จำเลยถูกคุมขังนานเกินความจำเป็น วิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงได้ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจ การตรวจสอบดุลพินิจ และการอุทธรณ์ ฎีกาคดีอาญาของพนักงานอัยการ ประกอบกับกลไกการตรวจสอบดุลพินิจคำสั่งไม่อุทธรณ์ ฎีกาของพนักงานอัยการตามกฎหมายต่างประเทศ เพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมของกลไกในการตรวจสอบดุลพินิจของพนักงานอัยการในการออกคำสั่งไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาของระบบกฎหมายไทย