Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้มุ่งศึกษาประเด็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่น โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะกรณีห้องชุดในอาคารชุดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินและเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการของประชาชนเป็นสำคัญ ฉะนั้นการที่รัฐจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุและไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชนภายใต้สภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นกรณีห้องชุดในอาคารชุดซึ่งเกิดจากแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันห้องพักอาศัย (sharing economy) เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหม่และรายเล็กสามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมดำรงชีพและช่วยให้เกิดการหมุนเวียนจำนวนเงินในทางเศรษฐกิจของสังคมแต่ละท้องถิ่นภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ทั้งนี้ การที่รัฐได้กำกับดูแลธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นกรณีห้องชุดในอาคารชุดผ่านระบบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 นั้นเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุและไม่สอดรับกับลักษณะการให้บริการธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นกรณีห้องชุดในอาคารชุดแต่อย่างใด โดยทำการศึกษานำหลักกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หลักกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สิน หลักเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงบทบาทอำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้หลักการกระจายอำนาจ และวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) ปัญหาการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดแบบรายวันหรือแบบรายสัปดาห์ขัดต่อหลักเกณฑ์และมาตราฐานของสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม (2) ปัญหาการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (3) ปัญหาการกำกับดูแลของนิติบุคคลอาคารชุดกรณีการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดแบบรายวันหรือแบบรายสัปดาห์ (4) ประเด็นปัญหาผลกระทบเชิงลบต่อผู้พักอาศัยรายอื่นๆกรณีการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดแบบรายวันหรือแบบรายสัปดาห์ จากการศึกษาพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการธุรกิจโรงแรมไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรและไม่สอดรับกับลักษณะการให้บริการของธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นกรณีห้องชุดในอาคารชุด จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบการภาคเอกชนมากเกินสมควรแก่เหตุในการประกอบกิจการธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นผ่านใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม และทำให้เกิดการปล่อยเช่าห้องชุดไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามมา รัฐมิสามารถกำกับดูแลธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นดังกล่าวได้ จนทำให้ผู้ใช้บริการเช่าห้องชุดในอาคารชุดตกอยู่ในสภาวะความเสี่ยงภัยอันตราย ความไม่มั่นคงและความไม่ปลอดภัยขณะใช้บริการในสถานที่พักอาศัยแห่งนั้น ฉะนั้น ในลำดับแรกเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามประเภทสถานที่พักในกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 (ฉบับปัจจุบัน) โดยระบุในคำนิยามเกี่ยวกับประเภทห้องชุดในอาคารชุดเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อให้เกิดความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายทันสมัยให้สอดรับกับลักษณะการให้บริการธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นกรณีห้องชุดในอาคารชุด และไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการของประชาชนภายใต้สภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ในลำดับถัดมา มีข้อเสนอแนะให้ควรออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดแบบรายวันหรือแบบรายสัปดาห์ (ฉบับใหม่) โดยอาศัยมาตรา 32 (9) ของพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับการให้บริการธุรกิจโรงแรม หรือ ตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับธุรกิจที่พักอาศัยท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ โดยนำมาตรการทางกฎหมายในรูปแบบบังคับก่อน หรือในรูปแบบ ex-ante regulationและมาตรการกำกับดูแลในรูปแบบบังคับหลัง หรือในรูปแบบ ex-post regulation มาใช้เพื่อกำกับดูแลการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดกรณีห้องชุดในอาคารชุด แต่หากมีการห้ามประกอบกิจการปล่อยเช่าห้องชุดในอาคารชุดดังกล่าวผ่านข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด รัฐก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการภาคเอกชนแต่อย่างใด