Abstract:
กระบวนการคัดค้านตามมาตรา 31 ถึงมาตรา 32 ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 (และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และมาตรา 32/2 ตามร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่าง
การพิจารณา มีเจตนารมณ์ให้บุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร และ
ในทางกลับกัน เพื่อสร้างความแน่นอนให้กับคุณภาพของกระบวนการรับจดทะเบียนสิทธิบัตร แต่ในประเทศไทย จำนวนการยื่นคำคัดค้านมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนทำให้การดำเนินการไม่แน่นอน บทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการคัดค้านในกฎหมายสิทธิบัตรไทยจึงเป็นประเด็นที่ควรศึกษาทบทวนถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบัน
เมื่อศึกษากระบวนการคัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายไทยเปรียบเทียบกับกระบวนการคัดค้านรูปแบบต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยเลือกกฎหมายสิทธิบัตรออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสิงคโปร์ มาเป็นกรณีศึกษา ประกอบกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและคณะกรรมการสิทธิบัตร รวมถึงข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับกระบวนการคัดค้านและข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตร พบว่าบทบัญญัติของกฎหมายสิทธิบัตรไทยในปัจจุบันทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทั้งร่างกฎหมายสิทธิบัตรยังอาจก่อให้เกิดประเด็นปัญหาที่ทำให้การดำเนินการไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกระบวนการ นอกจากนี้ บทบัญญัติของกฎหมายยังขาดแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการของคู่กรณีและการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่อีกด้วย
วิทยานิพนธ์นี้จึงเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการคัดค้าน เพื่อลดทอนข้อจำกัดอันสร้างความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีและเป็นอุปสรรคในการให้กระบวนการคัดค้านบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้กฎหมายสิทธิบัตรสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นพัฒนา และเปิดเผยการประดิษฐ์สู่สาธารณชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน