Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพแบบคาดการณ์ครั้งแรกก่อนและหลังการเริ่มใช้ระบบดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อของโรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Sepsis System : RSS) รวมไปถึงเพื่อศึกษาระยะเวลาในการได้รับยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับผลเพาะเชื้ออัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล อัตราการเสียชีวิตใน 28 วัน และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล
วิธีวิจัย : เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental study) เปรียบเทียบช่วงก่อนและหลังการใช้ระบบ RSS ศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อที่อายุมากกว่า 18 ปีและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564 – 30 เมษายน พ.ศ. 2565 ระบบ RSS เป็นการพัฒนาระบบที่จัดให้มีการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร และพยาบาล พัฒนาการให้บริการแบบองค์รวมเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ โดยประกอบด้วย (1) การกำหนดแนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน เป็นระบบ รวดเร็ว และมีการระบุเวลาวินิจฉัยที่ชัดเจน (2) มีการกำหนดรายการยาต้านจุลชีพเพื่อบรรจุในเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติซึ่งจัดตั้งอยู่ ณ บริเวณหอผู้ป่วย เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจสอบคำสั่งใช้ยา การจ่ายยา รวดเร็ว (3) การติดตามตรวจสอบผลความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพที่ผู้ป่วยได้รับเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับเชื้อก่อโรค
ผลการวิจัย : ผู้ป่วยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกเข้าร่วมการศึกษาจำนวน 137 คนแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มก่อนใช้ระบบ RSS 50 คน (กลุ่มควบคุม) และกลุ่มหลังใช้ระบบ RSS 87 คน (กลุ่มศึกษา) พบว่ากลุ่มศึกษามีระยะเวลาในการบริหารยาต้านจุลชีพแบบคาดการณ์ครั้งแรกของผู้ป่วยเร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ: 42 นาที (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 21.5, 57.5) เทียบกับ 76 นาที (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 35.0, 319.8; p < 0.001) และมีระยะเวลาในการบริหารยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามผลเพาะเชื้อที่เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ: 48 ชั่วโมง (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 0.9, 84.0) เทียบกับ 96 ชั่วโมง (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ 54.0,312.0 p = 0.009) นอกจากนั้นยังพบอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล เสียชีวิตใน 28 วัน และระยะเวลาในการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง ในกลุ่มศึกษาเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุป : การใช้ระบบ RSS มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ ช่วยลดระยะเวลาในการบริหารยาต้านจุลชีพแบบคาดการณ์ครั้งแรก ลดระยะเวลาในการบริหารยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมตามผลเพาะเชื้อ และ มีแนวโน้มส่งผลลดอัตราการเสียชีวิต