Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดแกรนูลที่มีขนาดมากกว่า 2 มิลลิเมตร ซึ่งไม่สามารถผ่านแร่งในกระบวนการทำแกรนูลเปียกของยาเมตฟอร์มิน (Rejected granules) ที่ถูกออกแบบให้ผลิตด้วยเครื่องจักรที่มีระบบปิด มีขนาดการผลิต 600 กิโลกรัม จากการเก็บรวมรวมข้อมูลปริมาณแกรนูลของยาเมตฟอร์มินที่ไม่สามารถผ่านแร่งได้จำนวน 100 รุ่นการผลิต พบว่ามีปริมาณสูงสุดถึง 21.54 กิโลกรัม จึงออกแบบการทดลองแบบแฟคทอเรียลเต็มรูป เพื่อศึกษาปัจจัยของกระบวนการทำแกรนูลเปียกของยาเมตฟอร์มิน จำนวน 5 ตัวแปร ตัวแปรละ 2 ระดับ ได้แก่ เวลาที่ใช้ในการลดขนาดก้อนวัตถุดิบเมตฟอร์มิน (15 และ 20 นาที) อัตราการไหลของลมทางเข้าของเครื่อง Fluid Bed Dryer (1,700 และ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง) อุณหภูมิที่ใช้ในการถ่ายแกรนูลจากเครื่อง Fluid Bed Dryer ไปยังเครื่อง Dry mill (25 และ 30 องศาเซลเซียส) ความกว้างในการเปิด Flap ขณะถ่ายแกรนูล (80 และ 90%) และระยะห่างระหว่างแร่งและใบพัดของเครื่อง Dry mill (2.5 และ 3.5 มิลลิเมตร) และมีการทำซ้ำ 2 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่าพารามิเตอร์ของกระบวนการที่มีผลต่อปริมาณการเกิด Rejected granule อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ระยะห่างระหว่างแร่งและใบพัดของเครื่อง Dry mill และเวลาที่ใช้ในการลดขนาดก้อนวัตถุดิบเมตฟอร์มินตามลำดับ แต่ปัจจัยที่ศึกษาไม่มีผลต่อการกระจายตัวของขนาดอนุภาคและปริมาณน้ำที่สูญเสียไปของแกรนูล นอกจากนี้ได้ระดับที่ดีที่สุดของพารามิเตอร์กระบวนการทำแกรนูลเปียกที่ปรับใช้ในระดับอุตสาหกรรม คือ เวลาที่ใช้ในการลดขนาดก้อนวัตถุดิบเมตฟอร์มิน 20 นาที อัตราการไหลของลมทางเข้าของเครื่อง Fluid Bed Dryer 1,900 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง อุณหภูมิที่ใช้ในการถ่ายแกรนูลจากเครื่อง Fluid Bed Dryer ไปยังเครื่อง Dry mill 25 องศาเซลเซียส ความกว้างในการเปิด Flap ขณะถ่ายแกรนูล 80% และระยะห่างระหว่างแร่งและใบพัดของเครื่อง Dry mill 3.5 มิลลิเมตร การยืนยันผลการทดลองกับกระบวนการทำแกรนูลเปียกจำนวน 50 รุ่นการผลิต พบว่าปริมาณ Rejected granule เฉลี่ยลดลงเป็น 0.6 กิโลกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 95.42 และส่งผลลดต้นทุนวัตถุดิบ ลดเวลาที่ใช้ในกระบวนการทำแกรนูลเปียก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าขายของยาเม็ดเมตฟอร์มินอีกด้วย งานวิจัยนี้จึงสามารถใช้เป็นทางเลือกในการปรับปรุงผลิตผลจากกระบวนการทำแกรนูลเปียกของยาอื่นต่อไป