Abstract:
โรคติดต่อหลายโรครวมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019, วัณโรค และโรคไช้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายการติดต่อได้ทางละอองชีวภาพจากผู้ป่วย การศึกษาเพื่อการหามาตรการจัดการที่เหมาะสมที่แต่เดิมใช้วิธีการตรวจหาการแพร่กระจายของจุลชีววิทยาและการปนเปื้อนของโลหิตถูกเปลี่ยนไปเป็นหลักการฝุ่นละอองขนาดเล็ก การรักษาทางทันตกรรมนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของหัตถการที่ก่อให้เกิดละอองฝอยดังกล่าว แต่พบว่ามีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับศัลยกรรมช่องปากจำนวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องของละอองชีวภาพที่เกิดจากทันตกรรมจะมุ่งไปที่การรักษาในทางทันตกรรมหัตถการและปริทันต์ งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์คือต้องการที่จะใช้หลักการฝุ่นละอองขนาดเล็กในการวัดปริมาณของละอองชีวภาพที่เกิดขึ้นจากหนึ่งในกระบวนการศัลยกรรมช่องปากคือการตัดฟัน โดยงานวิจัยนี้จะเป็นไปในรูปแบบการทดลองตัดฟันในระบบปิดจากการใช้เครื่องมือ 3 ชนิด คือ 1.หัวกรอเร็ว 2.เครื่องพีโซอิเล็กทริค 3.หัวกรอไมโครมอเตอร์ เป็นเวลา 1 นาที และวัดปริมาณละอองชีวภาพที่เกิดขึ้นในรูปแบบของ ฝุ่นละออง PM1, PM2.5 และ PM10 ด้วยเครื่องวัดอนุภาคในอากาศ โดยผลการวิจัยพบว่าการใช้เครื่องมือทั้ง 3 ชนิดในการตัดฟันสามารถสร้างละอองชีวภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ปริมาณละอองชีวภาพทั้ง PM1, PM2.5 และ PM10 สูงสุดเกิดจากการใช้หัวกรอเร็วตามมาด้วยการใช้เครื่องพีโซอิเล็กทริคและหัวกรอไมโครมอเตอร์ตามลำดับ โดย ณ เวลาที่ปริมาณละอองชีวภาพสูงสุดของแต่ละการใช้เครื่องมือทั้ง 3 ชนิดจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 และการใช้หัวกรอเร็วจะต้องการเวลามากที่สุดโดยใช้เวลา 16 นาที 40 วินาที เพื่อให้ค่าละอองชีวภาพกลับสู่ค่าเริ่มต้น ในขณะที่การใช้เครื่องพีโซอิเล็กทริคใช้เวลา 13 นาที 20 วินาที และการใช้หัวกรอไมโครมอเตอร์จะใช้เวลา 8 นาที 20 วินาที นอกจากนี้จากการวิจัยพบว่า กระบวนการตัดฟันโดยการใช้หัวกรอไมโครมอเตอร์จะสร้างละอองชีวภาพน้อยที่สุดและไม่เกินข้อกำนดคุณภาพอากาศในอาคารขององค์การอนามัยโลก ขณะที่การใช้หัวกรอเร็วและเครื่องพีโซอิเล็กทริคจะสร้างละอองชีวภาพในปริมาณที่สูงกว่าข้อกำหนดคุณภาพอากาศในอาคารดังกล่าว การจัดการอากาศอย่างเหมาะสมควรจะถูกพิจารณามาใช้เพื่อป้องกันการติดต่อโรคติดเชื้อทางอากาศ โดยเฉพาะในระหว่างการใช้หัวกรอเร็วและเครื่องพีโซอิเล็กทริคในการตัดฟัน และควรจะมีการกำหนดมาตรฐานระดับปริมาณของละอองชีวภาพที่เหมาะสมในคลินิกทันตกรรม